นาตาแฮก หรือ แรกนาขวัญ
นาตาแฮก คือนาจำลองเพื่อทำพิธีบูชายัญทางศาสนาก่อนลงมือเพาะปลูกต้นข้าวทำนาจริงของชุมชนชาวนาดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว ที่ยังคงสืบเนื่องประเพณีตราบจนทุกวันนี้โดยเฉพาะแถบลุ่มน้ำโขง ส่วนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาประเพณีนาตาแฮกถูกปรับเปลี่ยนเป็นในนาม “แรกนาขวัญ” โดยกำหนดเดือน 6 ทางจันทรคติตรงกับปฏิทินสากลเป็นเดือนพฤษภาคม “นาตาแฮก” ตรงกับ นาตาแรก (แฮก เป็นคำลาว ตรงกับไทยว่า แรก) แรกนาขวัญ คือ แฮกนาขวัญ ความหมายเดียวกับ นาตาแฮก (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2564) ซึ่งหมายถึง การไถนาทำนาปลูกข้าวครั้งแรกในนาจำลองขนาดเล็กๆ ที่สมมุติขึ้น แล้วมีพิธีสู่ขวัญวิงวอนร้องขอต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ (บางที่เรียกผีนาหรือพระภูมินา) จงบันดาลให้ทำนาจริง ๆ ได้ผลผลิตเป็นข้าวงอกงามอุดมสมบูรณ์ เหมือนนาจำลองที่สมมุติขึ้นครั้งแรกนี้ บางแห่งเช่นภาคเหนือจะทำพิธีสังเวยแม่โพสพพร้อมกันไปด้วย (กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม, 2567)
พิธีอย่างนี้มีมาแต่ดั้งเดิม ในชุมชนคนดึกดำบรรพ์ราว 3,000 ปีมาแล้ว สมัยก่อนทุกคนมีอาชีพทำนาต้องทำกันก่อนจะลงมือทำนาจริง ต่อมาเมื่อราชสำนักรับแบบแผนฮินดูจากชมพูทวีป (อินเดีย) จึงปรุงแต่งให้สอดคล้องกับพิธีพราหมณ์ เพื่อความศักดิ์สิทธิ์สูงขึ้น เช่น มีพระโคเสี่ยงทาย มีการเชิญเทวดามาเสกเป่าข้าวเปลือกที่ใช้หว่านในพิธี เมื่อเสร็จงานก็ให้ชาวบ้านแย่งกันเก็บเม็ดข้าวเปลือกไปบูชา และโปรยลงในนาของตน เพื่อให้ได้ผลผลิตเป็นเมล็ดข้าวมากขึ้น และรอดพ้นจากภัยธรรมชาติ ภาษาทางราชการเรียก จรดพระนังคัล เป็นคำเขมร (นังคัล คือ ผาลไถนา) แปลว่า ไถนาครั้งแรก มีหลักฐานยืนยันในเอกสารเก่าแก่ว่า พระเจ้าแผ่นดินเมื่อราว 700 ปีมาแล้ว มอบให้เจ้านาย และขุนนาง ทำพิธีนี้ เพื่อความมั่งคั่งในพืชพันธุ์ธัญญาหารของราชอาณาจักร จะละเว้นมิได้ ต้องทำทุกปี จึงมีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในพิธีแรกนาขวัญต้องไถนาแรก หรือนาตาแฮกที่จำลองขึ้นเป็นนามสมมุติ เมื่อผู้นำในพิธีกรรมเริ่มไถนา แรกพนักงานดนตรีปี่พาทย์ต้องเริ่มต้นประโคมด้วยเพลงนางนาค เป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ร้องขอความอุดมสมบูรณ์แก่พืชพันธุ์ปัญญาหาร และอาจตามด้วยเพลงที่เป็นสิริมงคลอื่น ๆ ต่อไปให้ยืดยาวได้จนกว่าจะไถนาแรกเสร็จสิ้นตามที่กำหนดไว้ (กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม, 2567)
แล้วเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ในพระราชพิธีพืชมงคล หรือพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เหตุใดจึงใช้ พระโค หรือ “วัว” เป็นผู้ทำนาย ทั้งที่สังคมไทยแต่โบราณกาลใช้ “ควาย” ทำนามาตลอด ในเมื่อควายเกี่ยวข้องกับการทำนาโดยตรง ทำไมไม่ให้สิทธิควายในพิธีสำคัญของวัฒนธรรมเกษตรบ้านเรา เรื่องนี้อธิบายได้จากรากฐานทางความเชื่อที่ประกอบกันเป็นพระราชพิธีพืชมงคล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญา-ศาสนาฮินดู อธิบายไว้ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12-18 สิงหาคม 2559 ว่า คนฮินดูยกย่องวัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ส่วนควายไม่ได้รับสถานภาพพิเศษใด ๆ ในสังคม การที่วัวอยู่ในพระราชพิธีพืชมงคลแทนที่จะเป็นควาย “อาจเพราะวัวตัว ‘ขาว ๆ’ (ต้องขาวด้วยนะครับ) เป็นสัญลักษณ์ของศาสนาพราหมณ์หรือวัฒนธรรมฮินดู แม้พระราชพิธีนี้จะมีรากเหง้าของเราเองคือศาสนาผี (ความเชื่อเรื่องขวัญ) แต่การใช้วัวไถนาเป็นการสร้างภาพความเป็นศาสนาพราหมณ์จากอินเดีย ซึ่งทำให้พิธีพื้นเมืองของเราดูแกรนด์ขึ้นมา เหมาะจะเป็นพระราชพิธีหรือพิธีหลวง” ควายยังถูกมองจากคนฮินดูเชื้อสายอารยัน (แขกขาว) ว่า เหมือนพวก “ฑราวิฑ” หรือชนพื้นเมืองผิวดำของอินเดีย คัมภีร์พระเวทในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จึงแทบไม่ให้ความสำคัญใด ๆ กับควาย
นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ให้ความเห็นเพิ่มว่า อาจเป็นเพราะควายเป็นสัตว์ในที่ลุ่ม พบมากในเขตศูนย์สูตรที่มีน้ำมาก คือในอินเดียภาคตะวันตกและภาคใต้ ชาวอารยันที่อยู่ทางเหนือจึงไม่คุ้นเคยกับควาย นอกจากนี้ ควายยังเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย อย่างในตำนานพระแม่ทุรคาทรงสิงห์เสด็จไปปราบอสูรควายชื่อ “มหิษาสูร” ทำให้พระนางได้ชื่อว่า “มหิษาสุรมรทินี” พระแม่ผู้ปราบอสูรควาย หรืออย่าง พระยม เทพแห่งความตายและชีวิตในปรโลก ก็ทรงควายเป็นพาหนะ ควายในคติฮินดูจึงมักจะวนเวียนอยู่กับความไม่เป็นมงคล (ธนกฤต ก้องเวหา, 2567)
สำหรับปีนี้ 2568 นี้ ได้กำหนดวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประกอบด้วยพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพระราชพิธีทางสงฆ์ โดยจะประกอบพระราชพิธี ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ในวันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม 2568 และถือเป็นวันเกษตรกร สำหรับในวันถัดมาของการประกอบพระราชพิธีคือ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์จะประกอบพระราชพิธีในวันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม 2568 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยทุกท่านสามารถรับชมและรับฟังการถ่ายทอดสดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2568 ในวันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม 2568 เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป ผ่านช่องทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ โดยสามารถดูรายละเอียดกำหนดการพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปีพุทธศักราช 2568 เพิ่มเติมได้ที่ https://www.moac.go.th/royal_ploughing-schedule
บรรณานุกรม
กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. (2567, พฤษภาคม 10). “แรกนาขวัญ-นาตาแฮก” การสร้างขวัญและกําลังใจของเกษตรกร. Silpa-mag. https://www.silpa-mag.com/culture/article_32683
ธนกฤต ก้องเวหา. (2567, พฤษภาคม 11). พระราชพิธีพืชมงคล ทำไมใช้ “วัว” ทำนาย ทั้งที่ใช้ “ควาย” ทำนา. Silpa-mag. https://www.silpa-mag.com/culture/article_132329
สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2564). แรกนาขวัญ มาจากนาตาแฮก 2 พันปี. มติชนสุดสัปดาห์, 41(2141), 68.
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อ “พี่พร้อม” ได้ที่
Email : sus.ref2011@gmail.com
Website : http://www.snc.lib.su.ac.th
Facebook Fanpage : หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์
Instagram : suslibrary
X : suslibrary
Tiktok : suslibrary
Tel : 081-3272881