ทำไมต้องมีนางสงกรานต์ 7 คน
วันที่ 13 เมษายนของทุกปีคือ “วันสงกรานต์” ซึ่งถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยที่ยึดถือสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ คำว่า “สงกรานต์” ถ้าแปลเอาความหมายตามศัพท์ก็แปลได้ว่า การย้ายที่หรือการเคลื่อนที่คือ วันที่ดวงอาทิตย์โคจรย้ายจากที่เดิมไปสู่ราศีเมษ ซึ่งเป็นวันที่พวกเราชาวไทยถือกันมาว่าเป็นวันแห่งการเริ่มต้นชีวิตใหม่ วันสงกรานต์มีอยู่ 3 วัน ด้วยกันคือ วันที่ดวงอาทิตย์ซึ่งโบราณเรียกว่า “พระอาทิตย์” โคจรเข้าสู่ราศีเมษ วันเนาและวันเถลิงศก ซึ่งใน 3 วันนี้มักจะตรงกับวันที่ 13-14 และ 15 เมษายนของปีปฏิทินในทุก ๆ ปี และยึดถือกันว่าวันที่ 13 เมษายน เป็นวัน “มหาสงกรานต์”
เมื่อถึงเทศกาลวันสงกรานต์ นอกจากจะมีกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมสนุกสนานเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจตามประเพณีของแต่ละท้องถิ่น เช่น การทำบุญตักบาตร รดน้ำดำหัวไหว้ผู้ใหญ่แล้ว ยังมีสิ่งหนึ่งที่คนไทยปฏิบัติเหมือนกันสืบมายาวนานคือ ประเพณีแห่นางสงกรานต์ โดยการนำหญิงสาววัยอ่อนรูปงามมาแต่งตัวเป็นเทพธิดาสงกรานต์คือ “นางสงกรานต์” นั่งบนคานหามหรือบนรถที่ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยดอกไม้และสีสัน แล้วจัดขบวนแห่ไปตามถนนหนทางอย่างสนุกสนานตามตำนานที่เชื่อถือ แล้วเคยสงสัยกันบ้างไหมว่า ทำไมนางสงกรานต์แต่ละปีจึงไม่เป็นคนเดียวกัน บางปีนางสงกรานต์ใจดี บางปีนางสงกรานต์ดุร้าย คำตอบคือ เพราะคนไทยมีนางสงกรานต์เป็นเทพีประจำถึง 7 คนนั่นเอง ก็เลยมีคำถามต่อไปอีกว่า ทำไมจึงต้องมีนางสงกรานต์ 7 คน (สมหมาย วงศ์วิทยากูล, 2534)
“นางสงกรานต์” เป็นนางฟ้าบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เป็นสวรรค์ชั้นต่ำสุดของเมืองฟ้า มีด้วยกัน 7 คน เป็นพี่น้องกันทั้งหมด เรียกจำนวนนางฟ้าว่า 7 คน ไม่เรียกว่า 7 องค์ เรียกตามอย่างโบราณท่านเคยใช้มา เพราะนางสงกรานต์เป็นนางฟ้าชั้นสามัญ ไม่ใช่เทวีหรือเทวดาผู้หญิงโดยตรง นางสงกรานต์ทั้ง 7 นี้ เป็น บาทบริจาริกา แปลว่า “นางบำเรอแทบเท้า” คือ “เมียน้อย” พระอินทร์ จอมเทวราช และเป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า ท้าวมหาสงกรานต์ นางทั้ง 7 นี้มีชื่อต่าง ๆ กัน และมี วัน ดอกไม้ เครื่องประดับ อาหาร อาวุธ และสัตว์เป็นพาหนะประจำแปลก ๆ กันไป (พระยาอนุมานราชธน, 2506, น. 16-17)
ตามตำนานวันสงกรานต์ เทพธิดาทั้ง 7 มีหน้าที่รับพระเศียรของท้าวกบิลพรหม ผู้รับปากจะตัดศีรษะของตนเพื่อบูชาธรรมบาลกุมาร แล้วแห่รอบเขาพระสุเมรุ ส่วนที่ต้องรับศีรษะของท้าวกบิลพรหมนั้น เพราะถ้าปล่อยให้ร่วงลงแผ่นดินจะเกิดเพลิงผลาญโลก ปล่อยให้ลอยเคว้งไปในอากาศจะทำให้ฝนฟ้ามลายหายไป เกิดความแห้งแล้ง หรือหากปล่อยลงสู่มหาสมุทรผืนน้ำก็จะเหือดแห้ง จึงต้องมีเหล่าธิดาท้าวกบิลพรหมเอาพานรองรับ แล้วแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ จากนั้นอัญเชิญไปไว้ในมณฑปถ้ำคันธุรลี ณ เขาไกรลาส พระเศียรท้าวกบิลพรหมที่เขาไกรลาสถูกบูชาด้วยเครื่องทิพย์ มีพระเวสสุกรรมเนรมิตโรงแก้วภควดี สำหรับเป็นที่ชุมนุมเทวดา ซึ่งจะคอยเอาเถาฉมูนาดมาล้างในสระอโนดาต 7 ครั้ง แล้วแจกกันสังเวยทุก ๆ พระองค์ ครั้นถึงครบกําหนด 365 วัน ครบรอบปีในวันสงกรานต์ คือ 13 เมษายน เทพธิดาทั้ง 7 จะผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมออกแห่ประทักษิณเขาพระเมรุทุกปี แล้วกลับไปเทวโลก เรื่องราวของท้าวกบิลพรหมนั้นน่าสนใจมาก หากมีเวลาอยากให้ไปลองหาอ่านกันค่ะ
กล่าวคือ หากวันที่ 13 เมษายนของปีนั้น ๆ ตรงกับวันใด เทพธิดาประจำวันนั้นก็จะเป็นผู้รับผิดชอบแห่พระเศียรของบิดา สำหรับนางสงกรานต์ทั้ง 7 มีดังนี้
1. ทุงษเทวี นางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ ทัดดอกทับทิม มีปัทมราค (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคืออุทุมพร (มะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือสังข์ เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์ครุฑ คือทรงครุฑเป็นพาหนะ
2. โคราคเทวี นางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ทัดดอกปีป มีมุกดาหาร (ไข่มุก) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเตละ (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จประทับเหนือพยัคฆ์ (เสือ)
3. รากษสเทวี นางสงกรานต์ประจำวันอังคาร ทัดดอกบัวหลวง มีโมรา (หิน) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือโลหิต (เลือด) พระหัตถ์ขวาถือตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายถือธนู เสด็จประทับเหนือวราหะ (สุกร)
4. มัณฑาเทวี นางสงกรานต์ประจำวันพุธ ทัดดอกจำปา มีไพฑูรย์ (พลอยสีเหลืองแกมเขียว) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือนมและเนย พระหัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์คัสพะ (ลา)
5. กิริณีเทวี นางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี ทัดดอกมณฑา (ยี่หุบ) มีมรกตเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือถั่วและงา พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือปืน เสด็จไสยาสน์เหนือปฏษฎางค์คชสาร (ช้าง)
6. กิมิทาเทวี นางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ ทัดดอกจงกลนี (บัว) มีบุษราคัมเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือกล้วยและน้ำ พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ เสด็จประทับยืนเหนือมหิงสา (กระบือ)
7. มโหทรเทวี นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบ) มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา (นกยูง) (ธนกฤต ก้องเวหา, 2568)
และนี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมต้องมีนางสงกรานต์ 7 คน ปีนี้วันสงกรานต์ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน ดังนั้นนางสงกรานต์ปีนี้จึงมีชื่อว่า “ทุงษเทวี” ค่ะ
ยังมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับ “วันสงกรานต์” ที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของหนังสือหรือวารสารที่หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ของเรามีให้บริการ สามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.opac.lib.su.ac.th/
บรรณานุกรม
อนุมานราชธน, พระยา. (2506). ประเพณีเนื่องในเทศกาล. โรงพิมพ์ของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.
ธนกฤต ก้องเวหา. (2568, 7 มีนาคม). ทำไมแต่ละปีมี “นางสงกรานต์” ต่างกัน? รู้จัก 7 นางสงกรานต์ ธิดาท้าวกบิลพรหม. Silpa-mag. https://www.silpa-mag.com/culture/article_149445
สมหมาย วงศ์วิทยากูล. (2534). ทำไม?… ต้องมีนางสงกรานต์ 7คน. วิทยาจารย์, 89(4), 64-67.
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อ “พี่พร้อม” ได้ที่
Email : sus.ref2011@gmail.com
Website : http://www.snc.lib.su.ac.th
Facebook Fanpage : หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์
Instagram : suslibrary
X : suslibrary
Tiktok : suslibrary
Tel : 081-3272881