ผีไทย Thai Ghosts : Ghosts & Spirits in Thai Culture

ผีไทย Thai Ghosts : Ghosts & Spirits in Thai Culture

“ผี” สิ่งลี้ลับที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมและวัฒนธรรมของคนไทยมาอย่างยาวนาน ก่อให้เกิดพิธีกรรม งานศิลป์ งานเขียน และสื่อบันเทิงมากมาย และในช่วงเทศกาล Halloween นี้ Reader Su Re ขอพาทุกท่านไปสัมผัสความสยองขวัญผ่านหนังสือเรื่อง 


ผีไทย Thai Ghosts : Ghosts & Spirits in Thai Culture  
โดย เอนก นาวิกมูล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2563 
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์แสงดาว ตีพิมพ์ในปี 2567

ตัวเล่มเป็นหนังสือปกแข็ง จำนวน 387 หน้า เห็นหลายหน้าแบบนี้ไม่ต้องกลัวว่าจะอ่านไม่ไหว เพราะเนื้อหาอ่านง่าย และมีหลายหน้า ที่เป็นภาพประกอบ รูปภาพผี ต่าง ๆ เพิ่มอรรถรสให้การอ่าน ได้เป็นอย่างดี

- เนื้อหาที่น่าสนใจ -

จากหนังสือ ผีไทย Thai Ghosts : Ghosts & Spirits in Thai Culture

        สำหรับเนื้อหาภายในเล่มผู้เขียน (เอนก นาวิกมูล) แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ภาคด้วยกัน คือ ภาคที่ 1 ความรู้ทั่วไป ภาคที่ 2 ผีสำคัญ และภาคที่ 3 ภาคผนวก ข้อเขียนที่เกี่ยวกับผีที่น่าสนใจ ภาคแรก ผู้เขียนได้ทำการปูพื้นให้เราได้รู้จักเรื่องราวของผีไทยในหลากหลายมิติ ตั้งแต่เรื่องของผีในสังคมชาวบ้านชนบท ที่ผู้เขียนเคยได้ออกไปพูดคุยด้วยในสมัยอดีต และพบว่าชาวบ้านมักจะเอ่ยถึงคนที่ล่วงลับไปแล้วด้วยคำว่า ผีสาง เช่น ผีสางพ่อ ผีสางแม่ ผีสางปู่ ผีสางย่า ซึ่งผู้ Review เองก็ทันในยุคที่คนเฒ่าคนแก่ ออกชื่อคนที่ตายไปแล้วว่า ”สาง” บ้างก็ออกเสียงว่า “สัง” เมื่อได้อ่านเล่มนี้ ถึงได้เข้าใจคำที่เรียกกันว่า สาง สาง นี้มาจากคำว่าผีสางนี่เอง 

ปัจจุบันนี้การใช้คำว่าสางนำหน้าชื่อคนที่ตายไปแล้วเริ่มหมดความนิยมไป จะมีใช้บ้างก็ได้ยินยากเต็มที ผู้เขียนยังเล่าไว้อย่างน่าสนใจในประเด็นที่ให้เราลองเอาคำว่าสางไปบวกกับชื่อคนสมัยใหม่ที่พึ่งตายดู จะพบว่าไม่เข้ากันอย่างหนัก พออ่านถึงประเด็นนี้จึงยลองเอาชื่อคนสมัยใหม่มาก ๆ มารวมกับคำว่า สางดูบ้าง อย่าง สางออนิว สางเดียร์น่า ก็ดูไม่เข้ากันอย่างยิ่ง ตามที่ผู้เขียนบอกไว้

      นอกจากนี้ผู้เขียนพาเราไปรู้จักกับเรื่องของผี ผ่านมุมมองของ “หนังสือยุคเก่าที่เขียนถึงผี” และ “หนังสือยุคใหม่ที่เขียนถึงผี” ขอยกตัวอย่างหนังสือเก่าที่เขียนถึงผีไว้อย่างน่าสนใจ และเป็นหนังสือที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยในอดีตเป็นอย่างมากคือ “กฎหมายตราสามดวง” ซึ่งรัชกาลที่ 1 โปรดฯ ให้นำกฎหมายสมัยกรุงศรีอยุธยามาชำระ ผู้เขียนได้คัดมาให้ได้อ่านพร้อมอธิบายว่า


ในกฎหมายตราสามดวง ตอน “พระอายการเบดเสรจ” กล่าวถึงผี ไว้ 4 ชนิด คือ ฉมบ จะกละ กระสือ และ กระหาง ทำให้เห็นว่า ผี 4 ชนิดนี้ มีมาอย่างยาวนาน นับร้อยปี

โดยในกฎหมายระบุวิธีพิจารณาความ ผู้เป็นผีเหล่านี้ตลอดจนผู้เรียนวิชาอาคมและกฤติยาคุณ ให้ลงโทษอย่างไรบ้าง คนที่กล่าวหา คนถูกกล่าวหา การไต่สวนทวนความ แต่ละประเด็นน่าสนใจมากเลยทีเดียว เช่นการจับกระสือ เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่า เวลากระสือออกหากินเสร็จจะมาเช็ดปากกับผ้าที่ชาวบ้านตากไว้ ถ้ากระสือมาเช็ดปากที่บ้านใครให้เอาผ้าไปต้ม คนเป็นกระสือจะทนไม่ได้ แล้วจะเปิดเผยตัวตนออกมาขอให้หยุดต้ม ซึ่งความเชื่อนี้ก็ถูกบันทึกไว้ในกฎหมายตราสามดวงว่าถ้าใครมายกหม้อต้ม หรือดับไฟ ก็ให้จับคนนั้นไปลงโทษตามกฎหมาย ในข้อหาที่เป็นกระสือ เรียกได้ว่าเป็นวิธีจับกระสือที่มีมาเป็นเวลานับร้อยปี

กฎหมายตราสามดวง ภาพจาก: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (www.nat.go.th)

หนังสือยุคเก่าที่เขียนถึงผี ซึ่งผู้เขียนหยิบยกมาเล่ามีที่น่าสนใจหลายเล่ม อย่างเช่น วรรณคดีขุนช้างขุนแผน, สัพะ พะจะนะ พาสาไท พจนานุกรม 4 ภาษา ของบาทหลวง ฌัง-บัปติสต์ ปาลเลกัวซ์ (Jean-Baptiste Pallegoix) อักขราภิธานศรับท์ ของแดเนียล บีช แบรดลีย์ (Daniel Beach Bradley) และอีกหลายเล่มที่ผู้แต่งยกมาให้เราได้รู้จักผีที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าหนังสือยุคเก่า

       สำหรับภาคที่ 2 “ผีสำคัญ” ผู้เขียนได้นำข้อมูลผีไทยมาประมวลและนำผีไทยที่สำคัญจำนวน 18 ผี เรียงตามตัวอักษร แต่ละผีไทยที่ยกมานั้นรวบรวมมาจากการกล่าวถึงในหนังสือต่างๆ ทั้งใหม่และเก่า หรือแม้แต่ที่ปรากฎในหน้าหนังสือพิมพ์ก็ถูกหยิบยกมาเรียบเรียงไว้ ยกตัวอย่างเรื่องของ “ปอบ” ผีชื่อกระฉอนที่มีเรื่องเล่าและถูกนำมาผลิตซ้ำในวงการละคร ภาพยนตร์ มาอย่างยาวนาน สำหรับปอบในหนังสือเรื่องผีไทยเล่มนี้ ได้ประมวลเอาปอบจากหนังสือต่าง ๆ มาเรียบเรียงไว้ เช่นว่า


หลักฐานที่เก่าที่สุดที่พูดถึงปอบคือ หนังสือ “A Dictionary of the Siamese Language” ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อเกือบ 180 ปีที่แล้ว

ลักษณะของปอบที่ถูกบรรยายไว้ในหนังสือยุคเก่าอย่างหนังสือ “วชิรญาณ” ซึ่งเขียนอธิบายถึงเหตุที่ทำให้เกิดปอบ ลักษณะนิสัยของปอบ ผู้ที่ปอบเกรงกลัว ตลอดจนวิธีการขับไล่ปอบ

หรืออีกข้อมูลหนึ่งที่ยกมาจาก “หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ 2539 ที่มีการลงข่าวหน้า 1 เรื่องปอบ ที่ชุมชนจันทรเกษม ตรอกข้าวหลาม เขตบางซื่อ จังหวัดกรุงเทพมหานคร ในครั้งนั้นชาวบ้านอดหลับอดนอนถึง 2 สัปดาห์ เพื่อพิสูจน์ว่ายายเสาร์ เป็นปอบ หรือไม่?

ยายเสาผู้ถูกกล่าวหาเคยเป็นที่รักของคนในหมู่บ้านวันหนึ่งเกิดล้มป่วยลงจริง ๆ หลังจากป่วยกระเสาะกระแสะมากว่า 2 ปี จากคนที่อ้วนท้วนสมบูรณ์ น้ำหนักเกือบ 100 กิโลกรัม ก็กลับผ่ายผอมลงเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ญาติพายายแกไปส่งโรงพยาบาล รักษาตัวอยู่ 10 วัน ยายเสาร์ก็หมดลมเสียชีวิตลง แต่ขณะญาติกำลังแต่งตัวศพ หลังเที่ยงคืนวันนั้น ยายเสาร์กลับฟื้นขึ้นมาใหม่ เลยต้องอยู่ดูอาการอีก 2-3 วัน ระหว่างนี้เอง คนไข้เตียงข้าง ๆ ก็ตายไปทีละคน สองคน แต่ยายเสาร์กลับอาการดีขึ้นตามลำดับ

พอกลับมาบ้าน ยายเสาร์ก็ไม่ค่อยออกไปไหนมาไหนเวลากลางวันเลย บางครั้งก็ให้สามีไปซื้ออาหารจำพวกลาบเลือดน้ำตกมาให้กินบ่อย ๆ จนผิดสังเกต ที่สุดชาวบ้านก็พากันรวมตัวไปจับปอบยายเสาให้สิ้นสงสัย พลเมืองดีเกรงว่ายายแกจะได้รับอันตรายจึงแจ้งไปยังไทยรัฐ เมื่อไทยรัฐมาถึง ก็เห็นยายเสาร์นั่งหลังงอบนเสื่อใต้ถุนบ้านหลังเก่า ๆ สวมเสื้อคอกระเช้าสีมอ ใส่ผ้าถุงลายดอกขาด ๆ เนื้อตัวมอมแมม เป็นอัมพาตช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ยายเสาร์เป็นคนร้อยเอ็ด ย้ายมาอยู่ชุมชนนี้ได้หลายสิบปี พอรู้ว่าเขาพามากันเพราะเข้าใจว่าแกเป็นปอบก็น้ำตาไหลพรังพรู แท้ที่จริงแล้วยายเสาร์เป็นเพียงคนป่วยที่รอความช่วยเหลือจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันก็เท่านั้น เป็นอันจบข่าวไป

ในภาค 2 นี้นอกจากจะประมวลเรื่องราวผีไทยทั้ง 18 ชนิดแล้วยังมีการพูดถึงเรื่องของ คนเลี้ยงผี นักเขียนเรื่องผี หรือในส่วนของภาคที่สาม ภาคสุดท้ายในเล่มที่เป็นภาคผนวก รวมข้อเขียนที่เกี่ยวกับผีจากท่านผู้เขียนหลากหลายสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องผีที่ปรกฏทั้งในวัด ในวัง ในบ้าน ในเรือกสวนไร่นา ทั้งที่ให้คุณและให้เกรงกลัวผ่านหลากหลายเรื่องราว ในภาคที่ 3 นี้

-เนื้อหาภาพรวมและจุดเด่น -

ของหนังสือ ผีไทย Thai Ghosts : Ghosts & Spirits in Thai Culture

       โดยรวมแล้วหนังสือเล่มนี้ทำให้เราได้รู้จักผีไทยผ่านหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร หนังสือเก่าหนังสือใหม่ หนังสือพิมพ์ เอกสารราชการต่าง ๆ ตลอดจนเรื่องราวที่มีผีเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น พิธีกรรม ความเชื่อ ประเพณี วิถีชีวิต งานวรรณกรรม งานศิลปะ ประวัติศาสตร์ ซึ่งทำเห็นการมีอยู่ของผีในสังคมไทย ว่าแต่ละผีแต่ละพวก แต่ละชนิดมีมาตั้งแต่ครั้งไหน คนในสังคมมองผีเหล่านั้นว่าเป็นอย่างไรผ่านหลักฐานที่ผู้แต่งยกมาให้เราได้อ่านกันในเล่มนี้

      สำหรับจุดที่โดดเด่นของเล่มนี้คือก่อนที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงข้อมูลของผีหรือเรื่องผีนั้น ๆ เกือบตลอดทั้งเล่มผู้เขียนจะเขียนให้เห็นอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งว่าข้อมูลนี้มาจากหนังสือชื่อเรื่องอะไร ใครเขียน เขียนปีไหน หลายข้อมูลระบุว่าามาจากหน้าที่เท่าไรถึงหน้าที่เท่าไร ทำให้หนังสือเล่มนี้นอกจากจะเป็นหนังสือที่รวบรวมเรื่องราวผีไทยในเชิงลึกแล้ว ยังรวบรวมชี้แหล่งหนังสือและงานเขียน ทั้งเก่าและใหม่ที่เกี่ยวกับผีไทยให้เราสามารถตามไปอ่านต่อยอดได้อีกด้วย

-ความรู้สึกหลังอ่าน -

หนังสือ ผีไทย Thai Ghosts : Ghosts & Spirits in Thai Culture

     ส่วนตัวรู้สึกว่าหนังสือเรื่อง ผีไทย เล่มนี้เป็นได้ทั้งหนังสืออ่านเล่นเอาความจรรโลงใจอย่างการฟังรายการที่เล่าเรื่องผีได้อยู่เหมือนกัน เพราะเนื้อหาสอดแทรกเรื่องผีหลากหลายยุคสมัย ในภูมิภาคต่าง ๆ ไว้หลายเรื่องทีเดียว หรือจะใช้เป็นหนังสืออ้างอิงในการเขียนบทความทางวิชาการ ใช้ในศึกษาผีไทย ก็นับว่าหนังสือเล่มนี้มีข้อมูลที่ควรแก่การใช้งาน

     สำหรับหนังสือเรื่อง ผีไทย Thai Ghosts : Ghosts & Spirit in Thai Culture เล่มนี้ส่วนตัวคิดว่าเหมาะสำหรับคนที่ชอบอ่านเรื่องลี้ลับและเรื่องผีแบบไทย ๆ  รวมถึงคนที่กำลังศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวัฒนธรรม มุมมองความเชื่อเกี่ยวกับผีไทยในสังคมไทย 
ผู้สนใจสามารถใช้บริการตัวเล่มได้ที่หอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพมหานคร หรือหาซื้อได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป

บรรณานุกรม

เอนก นาวิกมูล. (2567). ผีไทย. กรุงเทพฯ : แสงดาว.

เลขหมู่ : BF1472.ท9 อ74 2567

โดย : เอนก นาวิกมูล

สำนักพิมพ์ : แสงดาว

พิมพ์ปี : 2567

Click to rate this post!
[Total: 0 Average: 0]

ข้อมูลนี้มีประโยชน์หรือไม่

Thanks for your feedback!

Comments are closed.