world war tools สงครามโลกในสิ่งของ
ถ้าพูดถึง Event ที่ได้รับการกล่าวถึงในระดับสากลในช่วงนี้ คงต้องยกให้กับมหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม ถึงวันที่ 11 สิงหาคม ซึ่งตลอดการแข่งขัน ก็มีเรื่องราวให้เราได้ติดตามกันอย่างมากมายในหน้าสื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของพิธีเปิด ผลการแข่งขัน เรื่องราวของนักกีฬา และก็อื่น ๆ อีกมากมายที่สะท้อนให้เห็นว่าโอลิมปิกนี้ เป็นกีฬาของมวลมนุษยชาติ ที่ได้รับความสนใจจากคนทั้งโลก
แต่รู้หรือไม่ว่าญี่ปุ่นคือชาติแรกในทวีปเอเชียที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพในการแข่งขันโอลิมปิก ตั้งแต่เมื่อ 80 ปีที่แล้วแต่แล้วก็มีเหตุให้ต้องยกเลิกไป ซึ่งสาเหตุมาจากอะไรนั้น เราจะพาทุกท่านมาหาคําตอบกับหนังสือที่มีชื่อเรื่องว่า
“world war tools” สงครามโลกในสิ่งของ
สําหรับหนังสือเรื่อง “world war tools” สงครามโลกในสิ่งของ เล่มนี้เขียนโดย คุณเตย มนสิชา รุ่งชวาลนนท์ จากเพจ “พื้นที่ให้เล่า” และก็เป็นศิษย์เก่าจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรของเรานี่เอง หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดย สํานักพิมพ์ แซลมอน ตั้งแต่ปี 2564 มีเนื้อหา 280 หน้า เป็นหนังสือขนาดพกพา สามารถพกไปอ่านบนรถ ขณะเดินทางได้สบายเลย
สําหรับเนื้อหาภายในเล่ม เขาก็เล่าถึงเรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาสงคราม ที่ส่งผลกระทบต่อคนทั้งโลก โดยมีการเล่าผ่านสิ่งของและเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ซึ่งหลายอย่างยังปรากฏให้เห็นในปัจจุบันน รวมถึงโอลิมปิกก็เช่นกัน ถูกเล่าไว้ในเล่มนี้อย่างน่าสนใจในบทที่มีชื่อว่า “กีฬากับสงคราม 1940 โอลิมปิกที่หายไป”
โดยบทนี้เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อปี 1936 ที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล มีมติให้ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพได้จัดโอลิมปิกในปี 1940 ซึ่งนับเป็นการจัดโอลิมปิกครั้งแรกในทวีปเอเชีย ซึ่งตอนนั้นญี่ปุ่นอยากเป็นเจ้าภาพมาก เพราะนอกจากการเป็นเจ้าภาพในการจัดโอลิมปิก จะแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของประเทศนั้น ๆ แล้ว ในปี 1940 ยังเป็นปีครบรอบ 2600 ปี ของราชวงศ์ญี่ปุ่นอีกด้วย โอลิมปิกจึงนับว่าเป็นเวทีที่ดีที่สุด ในการประกาศให้รู้ว่า จักรวรรดิญี่ปุ่นก็มีความยิ่งใหญ่ทัดเทียมยุโรปและอเมริกา
ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่โอลิมปิกถูกมองว่าเป็นเรื่องของการเมืองพอ ๆ กับเรื่องของกีฬา ก็เกิดจากการจัดโอลิมปิกขึ้น ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ตั้งแต่ปี 1936 ซึ่งโอลิมปิกครั้งนี้ถูกเรียกกันว่า “โอลิมปิกของฮิตเลอร์” เนื่องจากพรรคนาซีกุมอํานาจอยู่ในตอนนั้นทําให้โอลิมปิกถูกใช้เป็นเวทีเพื่อเชิดชูความยิ่งใหญ่ของแนวคิดเชื้อชาติอาละยัน เช่น การไม่ให้นักกีฬาที่เป็นชาวยิวเข้าร่วมแข่งขัน การปลดเจ้าหน้าที่เชื้อสายยิว ออกจากการเป็นคณะกรรมการ
ท่าทีการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของเยอรมันในตอนนั้น ถูกต่อต้านเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ประชาชนชาวอเมริกาโหวตคว่ำบาตรโอลิมปิกที่เบอร์ลิน โดยไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วม แต่ถึงอย่างนั้นนะนักกีฬา ที่อยากจะสร้างชื่อเสียงในมหกรรมกีฬาระดับโลกขนาดนี้ ก็ไม่พลาดที่จะเข้าร่วมกีฬาในครั้งนี้ กลายเป็นว่าโอลิมปิกที่เบอร์ลิน ประสบความสําเร็จเป็นอย่างมาก ภาพจําหลายอย่างที่เกี่ยวกับโอลิมปิกที่เราเห็นในปัจจุบัน เช่น
“
พิธีวิ่งคบเพลิง ที่จะนําไฟจากยอดเขาโอลิมปัส เดินทางมายังประเทศเจ้าภาพ ก็มีที่มาจากการจัดแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงเบอร์รินโดยมีเยอรมันเป็นประเทศแรกที่ริเริ่มทําพิธีนี้
“
กลับมาที่ญี่ปุ่นกันบ้างนะ ญี่ปุ่นมีการเตรียมตัววางแผนเพื่อที่จะเข้าชิงตําแหน่งในการเป็นเจ้าภาพการแข่งโอลิมปิกในปี 1940 โดยการเข้าไปเจรจากับ เบนิโต มุโสลินี ผู้นําอิตาเลียนตอนนั้นที่มีข่าวลือว่าจะเป็นตัวเก็งในการจัดแข่งขันโอลิมปิก ซึ่งการเจรจาของญี่ปุ่นก็ประสบผลสําเร็จไปได้ด้วยดี
หลังจากเคลียร์ปัญหากับคู่แข่งแล้ว ก็มาจัดการในเรื่องการเดินทางของนักกีฬา จากทวีปยุโรปมายังเอเชีย โดยการเจรจาให้รัสเซียสนับสนุนรถไฟสายทรานส์ ไซบีเรีย โดยญี่ปุ่นจะสนับสนุนเงินค่าเดินทางให้กับนักกีฬาเอง
ข่าวการเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิก ทําให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นยินดีเป็นอย่างมาก ทั่วทั้งกรุงโตเกียวถูกประดับประดาด้วยธงชาติ คู่กับธงโอลิมปิก และก็มีการเตรียมตัวสิ่งต่าง ๆ เพื่อจัดงานโอลิมปิก เช่นการทาบทามพระจักรพรรดิ ฮิโรฮิโตะ มาเป็นประธานในพิธี แต่กระนั้นก็มีการถกเถียงกันว่าพระองค์สูงส่งเกินที่จะปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชน และพระสุรเสียงของพระองค์ศักดิ์สิทธิ์เกินกว่าจะผ่านเครื่องขยายเสียง
เดอร์ กูแบร์แต็ง บิดาผู้ก่อตั้งโอลิมปิกสมัยใหม่กล่าวว่า การแข่งขันโอลิมปิกครั้งที่ 12 จะยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพราะเป็นการนําวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่มารวมกัน คือ วัฒนธรรมที่มีค่าที่สุดของยุโรป มาหลอมรวมเข้ากับศิลปะอันประณีตของเอเชีย
แต่แล้วในปี 1937 ก็มีข่าวลือว่าญี่ปุ่นอาจจะไม่ได้จัดงานโอลิมปิกในครั้งนี้ เพราะว่ากําลังทําสงครามกับจีน แต่ทางตัวแทนคณะกรรมการการจัดงานโอลิมปิกของญี่ปุ่น ก็ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติว่า โอลิมปิกที่ญี่ปุ่นจะถูกจัดขึ้นอย่างแน่นอน ได้มีการกําหนดพิธีเปิดไว้แล้ว รวมทั้งการแข่งขันกีฬานี่แหละจะช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ
แต่ก็ไม่เป็นไปดังนั้น ภาวะสงครามทําให้เกิดปัญหาหลาย ๆ อย่าง งบประมาณมหาศาลที่จัดเตรียมไว้สําหรับการจัดโอลิมปิก ก็ถูกงัดขึ้นมาใช้เพื่อทําสงครามกับจีน จนในที่สุดญี่ปุ่นตัดสินใจขอถอนตัวจากการเป็นเจ้าภาพการจัดโอลิมปิกในปี 1940
การประกาศถอนตัวการเป็นเจ้าภาพการจัดโอลิมปิกของญี่ปุ่นในครั้งนั้น ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะทําให้เห็นว่า ญี่ปุ่นเข้าใจจิตวิญญาณของการจัดโอลิมปิกที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการแข่งกีฬา ไม่ใช่จัดเพื่อการโปรโมทประเทศของตัวเอง
หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว อย่างที่เรารู้กันว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศแพ้สงครามจึงต้องมีการฟื้นตัวขนานใหญ่ มีการปฏิรูปทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ
จนเมื่อทุกอย่างดีขึ้นแล้ว ญี่ปุ่นก็ได้เสนอตัวเข้าชิงตําแหน่งเจ้าภาพโอลิมปิกอีกครั้งในปี 1964
ในการประชุมคัดเลือกโอลิมปิกในปี 1959 คาซูชิเกะ ฮิราซาวา ตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่นได้กล่าวสุนทรพจน์ที่สามารถทําให้โตเกียวเอาชนะตัวเต็งอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาจนได้ เป็นเจ้าภาพการจัดแข่งขันโอลิมปิกได้ซึ่งเนื้อหาของสุนทรพจน์ที่ได้กล่าวนั้น มีท่อนหนึ่งที่ฟังแล้วรู้สึกประทับใจชาวเอเชียอย่างพวกเรามาก และอยากจะหยิบมาเล่าให้กับทุกคนให้ฟัง โดยใจความได้กล่าวว่า
“
ธงโอลิมปิก ที่ประกอบไปด้วยห่วง 5 ห่วงคล้องติดกัน บนพื้นธงสีขาว ห่วงทั้ง 5 เป็นตัวแทนของทวีปทั้ง 5 แต่โอลิมปิก กีฬาที่เติบโตและรุ่งเรืองในดินแดนตะวันตกมาหลายร้อยปี ยังไม่เคยมีโอกาสเดินทางมาถึงดินแดนตะวันออกเลยสักครั้ง โปรดนำโอลิมปิกมาสู่ทวีปเอเชียด้วยเถิด
”
นับเป็นสุนทรพจน์ที่ทรงพลังเป็นอย่างมากสําหรับชาวเอเชีย และโอลิมปิกที่จัดขึ้น ณ กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่นในปี 1964 ก็ถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่พระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะเสด็จเป็นประธานในพิธี สื่อให้เห็นว่าญี่ปุ่นยุคใหม่จักรพรรดิไม่ใช่เทพเจ้าที่สูงส่งอีกต่อไป
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวของโอลิมปิกที่ถูกงดไปเพราะว่าสงครามโลก เป็นเหตุแล้วก็ถูกกลับมาจัดอีกครั้งโดยมีญี่ปุ่นเป็นชาติแรกที่จัดขึ้นในทวีปเอเชีย ซึ่งจากที่เล่ามาทั้งหมดนี้ เป็นเนื้อหาเพียงบางส่วนจากในหนึ่งบทเท่านั้น จริง ๆ ในบทเนี่ยก็ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย รวมถึงในเล่มเนี่ยก็ยังมีบทอื่นที่น่าสนใจ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเช่นการลี้ภัยสงครามของศิลปะชื่อดังอย่างภาพของโมนาลิซา และก็ภาพดอกทานตะวันของแวนโกะห์ หรือว่าการต่อสู้ด้วยแฟชั่นและก็ลิปสติกของสาว ๆ ชาวฝรั่งเศสในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
สําหรับคนที่สนใจก็สามารถมาหาอ่านได้ ซึ่งเล่มนี้ก็เหมาะสําหรับคนที่อยากจะรู้หรือว่าอยากจะศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสงครามโลกในครั้งที่ 2 ผ่านเครื่องไม้เครื่องมือและสิ่งของต่าง ๆ โดยสามารถมาใช้บริการตัวเล่มได้ที่ หอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร
และก็ยังสามารถเข้าใช้บริการได้ที่ หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือหากท่านใดที่สนใจอยากจะซื้อเป็นตัวเล่มก็ยังสามารถหาซื้อกันได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป ครั้งหน้าเราจะนําหนังสือเล่มไหนมาชวนทุกท่านเป็นนักอ่านไปกับเราก็อย่าลืมติดตามกันที่ Reader SU Review
บรรณานุกรม
มนสิชา รุ่งชวาลนนท์. (2564). World War Tools สงครามโลกในสิ่งของ. กรุงเทพฯ : แซลมอน.
เลขหมู่ : D743 .ม35 2564
โดย : มนสิชา รุ่งชวาลนนท์
สำนักพิมพ์ : แซลมอน.
พิมพ์ปี : 2564