สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ : พระกรณียกิจด้านดุริยางคศิลป์
“คิดนอกกรอบ สร้างสรรค์ดนตรีไทย” สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าจิตร เจริญ ทรงเป็นอัจฉริยะศิลปินแห่งสยามประเทศ ทรงรอบรู้และทรงมีพระปรีชาสามารถในทางศิลปกรรมแทบทุก แขนง ดุริยางคศิลป์ เป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่พระองค์ทรงสนพระทัยมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ แต่ช่วงแรกเป็นการศึกษาด้วยพระองค์เองเป็นส่วนใหญ่ ในปี พ.ศ. 2422 มีการแสดงละครเรื่อง “นิทราชาคริต” ในครั้งนี้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงร่วมแสดงด้วย และมีบทบาทที่จะต้องบรรเลงเพลงมโหรี ซึ่งในครั้งนี้ได้ทรงขอหัดซอกับกรมหมื่นทิวากรและครูถึก โดยเหตุที่ทรงพระปรีชาสามารถทั้งในทางดนตรีและนาฏศิลปะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระฐานันดร เป็นกรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ฯ โดยมีสร้อยพระนามตอนหนึ่งว่า “สังคีตวาทิตวิธีวิจารณ์” ซึ่งแปลว่า “ทรงจัดวิธีแห่งดนตรีการฟ้อนรำ ขับร้องและทำนองเพลง” แสดงให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจทางด้านนาฏศิลป์ และดุริยางคศิลป์
ด้วยความสนพระทัยในดุริยางคศาสตร์นี้เอง พระองค์จึงมีผลงานพระนิพนธ์หลายเพลงด้วยกัน อันได้แก่

1. เพลงเขมรไทรโยค
เมื่อครั้งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มีพระชนมายุ 14 พรรษา ได้ทรงมีโอกาสตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชดำเนินประพาสตำบลไทรโยค เป็นครั้งแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภในอันที่เสด็จพระราชดำเนินไปประพาศยังตำบลไทรโยคอีกเป็นครั้งที่ 2 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพอพระทัยในความงามในตำบลไทรโยค จึงได้นำเพลง “เขมรกล่อมลูก” อัตรา 2 ชั้นเดิมมาดัดแปลงขยายและเพิ่มเติม จนมีทำนองให้แตกต่างออกไป พร้อมกับแต่งบทร้อยกรองบรรยายความงามที่เคยทอดพระเนตร ต่อมาเมื่อเพลงนี้ได้เผยแพร่ออกไปสู่ประชาชน ส่วนมากจะเรียกชื่อเพลงนี้ว่า “เขมรไทรโยค” และเรียกกันมาเช่นนั้นจนถึงปัจจุบัน

2. เพลงสรรเสริญพระบารมี
บทร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงแต่งขึ้นตั้งแต่คราวเล่นละครดึกดำบรรพ์ แสดงครั้งแรกที่ศาลายุทธนาธิการในปี พ.ศ. 2431 มาภายหลังในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแก้ไขบทขับร้องเสียใหม่ โดยรักษาบทร้องอันเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ไว้ให้มากที่สุด และเนื้อร้องที่ได้รับการแก้ไขครั้งนี้ จะใช้ร้องกันโดยทั่วไป และสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

3. เพลงมหาชัย
เพลงมหาชัยในอัตรา 2 ชั้นของเดิมใช้บรรเลงประกอบพิธีการทำขวัญหรือเวียนเทียนในพิธีอันเป็นมงคล ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้นำเพลงมหาชัยของเดิมมานิพนธ์ให้มีทำนองแบบ ฝรั่งและให้พระยาวาทิตบรเทศ เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสาน ภายหลังทางราชการได้ใช้เพลงมหาชัยทางฝรั่งนี้เป็น เพลงแสดงการคำนับประธานของงานที่มีศักดิ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าลงมาและนิยมใช้กันแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้แล้วยังทรงนิพนธ์เพลงไทยอีกหลายเพลง ได้แก่ เพลงสรรเสริญป่า เพลงเต่าเห่ เพลงอาหนู เพลงทยอยเขมร เพลงลาวเล็ก เพลงอกชะเล หรืออกทะเล

แหล่งอ้างอิง
ณัฐวุฒิ แสงชูวงษ์. (2560). ที่มาและความหมายของเพลงสรรเสริญพระบารมี. https://www.gqthailand.com/…/movie/article/king-and-them
มหาวิทยาลัยศิลปากร. ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม. (2556). สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. มหาวิทยาลัยฯ.
มนตรี ตราโมท. (2567). จาก “เขมรกล่อมลูก” ถึง “เขมรไทรโยค”เพลงอมตะของไทย.
https://www.silpa-mag.com/culture/article_17479

จดหมายเหตุมหาวิทยาลัยศิลปากร
FB : https://www.facebook.com/SilpakornUniversity.Archives

Click to rate this post!
[Total: 1 Average: 1]

ข้อมูลนี้มีประโยชน์หรือไม่

Thanks for your feedback!
Tags: No tags

Comments are closed.