หนังสือเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
วันที่ 28 เมษายนเป็นวันคล้ายวันประสูติของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือที่หลาย ๆ ท่านขนานพระนามของท่านว่า “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” คนรุ่นหลังโดยเฉพาะในวงการช่างวงการศิลปินขานพระนามท่านว่า “สมเด็จครู” ถ้าจะพูดให้เห็นถึงผลงานของท่านที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด อยากให้ลองหยิบเหรียญ 5 ขึ้นมาแล้วพลิกไปด้านที่มีพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ นั่นแหละครับผลงานของสมเด็จครู หรือว่าพระบรมราชานุสาวรีย์ของรัชกาลที่ 1 ที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานพุทธฯ รวมถึงเพลงสรรเสริญพระบารมีที่เราร้องกันอยู่ทุกวันนี้ ตราสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร ก็แล้วแต่เป็นผลงานสมเด็จครูทั้งสิ้น สําหรับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้รับการยกย่องจากยูเนโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) ให้เป็นบุคคลสําคัญของโลก ในวันที่ 28 เมษายน 2506 ในฐานะ “ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม” วันนี้ก็เลยอยากจะเอาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จครูมาเล่าให้กับทุกคนได้ฟังกับหนังสือที่มีชื่อเรื่องว่า “หนังสือเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หนังสือเล่มนี้จัดทําโดยกรมโยธาและผังเมือง จัดทําขึ้นในปี 2565 ครับรูปเล่มถูกออกแบบมาอย่างสวยงามเนื้อหาทั้งหมดถูกตีพิมพ์อยู่ในกระดาษอาร์ตมัน ภาพข้างในทรงคุณค่ามากเลย เพราะเป็นภาพถ่ายที่หาชมได้ยากเพียงแต่ภาพถ่ายที่เราเห็นก็รู้สึกคุ้มค่าในการอ่านแล้ว และก็เนื้อหาภายในก็เป็นเนื้อหาสองภาษาด้วยกันคือมีภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ภายในเล่มมีการรวบรวมพระประวัติของสมเด็จครูไว้อย่างน่าสนใจ สําหรับบทนําก็จะมีการพูดถึงการที่ยูเนสโก ยกย่องให้พระองค์เป็นบุคคลสําคัญของโลกอย่างที่ได้เกริ่นไปตอนต้น รวมถึงการนําพระนามเต็มในพระสุพรรณบัฏของสมเด็จครูมาแปลให้เราได้เข้าใจความหมายของชื่อพระองค์ ตลอดจนการรวบรวมพระบรมราชโองการประกาศเลื่อนพระอิศริยายศของสมเด็จครูตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 8 ก็ถูกรวบรวมไว้ในบทนี้
เริ่มจากบทที่ 1 มีชื่อว่า ”สืบสายวงศ์พงษ์มงกุฎ” ที่เล่าถึงประวัติของสมเด็จครูนี้ให้ผู้อ่านได้รู้จักกับพระองค์มากยิ่งขึ้นซึ่งจะได้ยกประเด็นพระประวัติบางส่วนที่สําคัญ ๆ ของพระองค์ที่อยู่ภายในเล่ม มาเล่าให้กับทุกท่านได้ฟังสําหรับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้า”จิตรเจริญ” เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย ประสูติเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2406 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคต สมเด็จครูทรงมีพระชันษาเพียง 5 ปีเท่านั้น ทรงตรัสเล่าว่าความทรงจําเกี่ยวกับสมเด็จพระราชบิดา มีน้อยนิดมาก เมื่อไปเข้าเฝ้า ทรงจดจําได้ว่าในพระที่นั่งนั้นประกอบไปด้วยลูกโลกที่หมุนได้ตั้งอยู่ในโต๊ะเตี้ย ๆ ทรงสังเกตเห็นรูปภาพออกพระวิสุทธสุนทร (โกษาปาน) ราชฑูตสยามและคณะทูตเข้าเฝ้าถวายราชสาส์นแด่พระเจ้าหลุยที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ณ พระราชวังแวร์ซาย ซึ่งประดับอยู่ในพระที่นั่งอนันตสมาคมองค์เก่า ความทรงจําแบบนี้สะท้อนถึงพระอุปนิสัยแห่งศิลปินตั้งแต่อย่างทรงพระเยาว์ นอกจากนี้ยังทรงฉายแววช่างเขียนมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ คือเมื่อปี พ.ศ. 2417 เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง นักดาราศาสตร์ชาวต่างชาติก็มาขอพระบรมราชานุญาตรัชกาลที่ 5 เพื่อเข้าไปส่องกล้องในพระบรมมหาราชวังก็ในหลวงก็โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกล้องอยู่ที่บริเวณหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และโปรดเกล้าฯ แจกกระดาษให้เหล่าเชื้อพระวงศ์และข้าราชบริพารเขียนรูปสุริยุปราคาแข่งกัน ในครั้งนั้นก็มีผู้ที่ได้รับรางวัลในฐานะผู้ที่เขียนรูปได้งดงามและก็สมจริงที่สุดเพียง 3 รางวัลเท่านั้น 1 ใน 3 นั้นเป็นผลงานของสมเด็จครู ซึ่งมีพระชันษาเพียง 11 ปีเท่านั้น ผลงานนี้ได้รับความสนใจจากนักดาราศาสตร์ชาวต่างชาติที่เข้ามาตั้งกล้องในตอนนั้นเป็นอย่างมากและก็ขอรูปไปตีพิมพ์ลงในหนังสือซึ่งก็เป็นผลงานของสมเด็จครูที่ฉายแววเป็นช่างเขียนมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงชุบเลี้ยงสมเด็จครูไว้อย่างใกล้ชิดทรงอบรมสั่งสอนด้วยพระองค์เองเลยตามพระอุปนิสัยของสมเด็จครูที่รัชกาลที่ 5 ทรงทอดพระเนตรเห็น ครั้งนึงสมเด็จครูเจริญพระชันษาตามเกณฑ์ที่จะได้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ รัชกาลที่ 5 จึงตรัสกับพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณรายถึงพระราชดําริที่จะส่งสมเด็จครูไปศึกษาต่อ ปรากฏว่าพระองค์เจ้าพรรณราย ทรงกันแสงไม่หยุด การที่จะไปศึกษาต่อในต่างประเทศของสมเด็จครูจึงเป็นอันระงับไปด้วยเหตุนี้ ต่อมาสมเด็จครูได้ทรงผนวชอยู่ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ขณะที่ทรงผนวชอยู่นั้นก็มีเสียงเล่าลือกันว่าจะไม่ทรงยอมลาสิกขา ร้อนถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ต้องแอบสอดจดหมายน้อยไปกับผ้าไตรที่ทรงประเคนถวาย โดยเนื้อความในจดหมายมีใจความว่า ขอให้สึกมาช่วยทำราชการ สมเด็จครูจึงได้สึกตามพระบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ 5 หลังจากที่ทรงลาสิกขา
“
สมเด็จครูทรงประทับอยู่ ณ วังท่าพระ ในขณะนี้เอง ทำให้เกิดงานสถาปัตยกรรมชิ้นหนึ่ง นั่นก็คือซุ้มประตูวังท่าพระ หรือ ประตูแดง สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระของเรา ในปัจจุบัน
“
อีกประเด็นสำคัญที่หนังสือเล่าไว้คือพระประวัติในด้านการทํางานที่ทรงรับราชการเป็นอธิบดีและเสนาบดีกระทรวงต่าง ๆ อาทิเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ, เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ, เสนาบดีกระทรวงกลาโหม และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ก็ทําแผนผังไว้ให้เราเห็นอย่างเด่นชัดและก็สวยงามก็ลองไปเปิดกันดูได้ว่าพระองค์ทรงดํารงตําแหน่งที่สําคัญ ๆ ในราชการอะไรบ้าง
สําหรับเนื้อหาในบทที่สอง เนื่องจากหนังสือเล่มนี้ครับจัดทําขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จครูจากกรมโยธาและผังเมืองจึงเป็นเนื้อหาที่บอกเล่าถึงพระกรณียกิจของพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 5 ทรงปรับปรุงระบบราชการให้เป็นหมวดหมู่มีการจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ขึ้นเพื่อทํางานสนองพระราโชบายในการพัฒนาประเทศสยามให้มีความศิวิไลซ์ทัดเทียมนานาประเทศ หนึ่งในนั้นก็คือการตั้งกรมโยธาธิการซึ่งมีหน้าที่ในการดําเนินการก่อสร้าง, ออกแบบ, เขียนแปลนทำแผนที่ ซึ่งต่อมาก็ยกฐานะเป็นกระทรวงโยธาธิการครับโดยมีสมเด็จครูเป็นอธิบดีกรมและก็เป็นเสนาบดีกระทรวงตามลําดับ จึงนับได้ว่า
“
สมเด็จครูทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการพระองค์แรกของประเทศไทย
“
ทรงดำรงตำแหน่งรถึงสองครั้งด้วยกันถึงแม้จะไม่ติดต่อแต่ก็มีระยะเวลาในการดํารงตําแหน่งยาวนานถึง 9 ปีเศษในขณะที่ดํารงตําแหน่งพระองค์ทรงมีผลงานมากมาย จนพระบรมวงศานุวงศ์พี่น้องตรัสล้อพระองค์ว่าเป็นนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม ซึ่งสิ่งปลูกสร้างต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นครับเรียกได้ว่าสร้างความศิวิไลซ์ให้กับกรุงเทพมหานครเป็นอย่างยิ่ง เช่นการคมนาคมการสื่อสารต่าง ๆ ยกตัวอย่างการทําถนนหนทางในกรุงเทพฯเพื่อสนองพระราชปณิธานของรัชกาลที่ 5 ไม่ว่าจะเป็นถนนเยาวราช, ถนนราชวงศ์, ถนนทรงวาด, การซ่อมแซมสะพานและก็การสร้างสะพานต่าง ๆ เช่นสะพานมัฆวานรังสรรค์, สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ตลอดจนการทรงงานในด้านกิจการรถไฟและไปรษณีโทรเลข ซึ่งขึ้นกับกระทรวงโยธาธิการในสมัยนั้น ภายในเล่มเขียนเล่าว่าระหว่างที่ทรงดําเนินกิจการต่าง ๆ ไว้อย่างน่าสนใจเช่นกันเขียนหนังสือกราบบังคมทูลแนะนําที่ทําให้เห็นทักษะในทางช่างของสมเด็จครู
นอกจากพระกรณียกิจของสมเด็จครูในด้านโยธาธิการแล้ว พระองค์ยังทรงเป็นนายช่างที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากในหลวงรัชกาลต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา เช่นเมื่อครั้งที่มีการโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้วเนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปีสมเด็จครูได้รับหน้าที่ให้บูรณะหอพระคันธารราษฎร์ ทั้งภายในและภายนอก ครั้งนั้นสมเด็จครูมีพระชันษาเพียง 17 ปีเท่านั้น พระองค์ตรัสเล่าว่า เป็นงานที่สนุกและเพลิดเพลินเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่ามีการรวบรวมช่างฝีมือดีจากหลาย ๆ ที่มาร่วมกันที่งาน เห็นวิธีการทํางาน ได้ฟังเขาพูดคุยหรือถกกันในเชิงช่าง รวมทั้งได้พูดคุยและก็ช่วยงานพระอาจารย์ ในการเขียนแบบต่าง ๆ สมเด็จครูเองจึงได้ความรู้จากการทํางานในครั้งนี้มาด้วย พระองค์ยังทรงเป็นนายช่างที่ออกแบบบงานถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้ต้องพระราชหฤทัยมากที่สุดจึงได้รับหน้าที่ในการออกแบบถวายงานรัชกาลที่ 5 อยู่เป็นนิจไม่ว่าจะไปประจําอยู่กระทรวง ทบวง กรมไหนก็ยังต้องถวายงานออกแบบครับหรือผลงานชิ้น Masterpiece เลยอย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้นที่บอกว่าอยู่ที่เหรียญ 5 บาทคือ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ที่สมเด็จครูทรงออกแบบพระอุโบสถให้เป็นผังกากบาทแบบวิหารคริตเตียนโรมัน ผสมกับรูปแบบอาคารจตุรมุขหลังคาลดชั้นในสถาปัตยกรรมไทย ประดับด้วยหินอ่อนจากอิตาลี ประดับกระจกสีเหนือบานหน้าต่างอย่างตะวันตก ซึ่งต่อมาพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กลายเป็นแม่แบบให้สถาปนิกไทยในการออกแบบอาคารสถาปัตยกรรมไทย หลายคนด้วยกัน เช่น พระอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุบางเขน โดยพระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) พระอุโบสถวัดอมรินทราราม บางกอกน้อย โดย หลวงวิลาศศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) ก็ได้ตัวอย่างการออกแบบมาจากสมเด็จพระครูทั้งสิ้น
นอกจากผลงานทางด้านสถาปัตยกรรมแล้ว สมเด็จครูยังมีผลงานทางด้านศิลปะอีกหลากหลายแขนงครับเช่นงานจิตรกรรม ทรงเติมมัดกล้ามเนื้อตามหลักกายวิภาคหรือว่า Anatomy ลงไปในงานจิตรกรรมไทยเช่นภาพจิตรกรรมพระอาทิตย์ชักรถ ภาพ ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ที่นายช่างชาวตะวันตกได้นําไปวาดประดับอยู่บนพระที่นั่งบรมพิมาน ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดราชาธิวาส และอีกชิ้นหนึ่งที่เชื่อว่าหลายคนคงจะคุ้นตากันดีกับภาพจิตรกรรมพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ที่สมเด็จครูเขียนขึ้นเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 6 ซึ่งต่อมา ก็มีการจําลองลายเส้นออกมาเป็นตราสัญลักษณ์ประจํากรุงเทพมหานครอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบันนี้ รวมถึงสมเด็จครู ยังมีผลงานประณีตศิลป์ที่ออกแบบดีไซน์ งานต่าง ๆ อีกหลายชิ้นและที่โดดเด่นเลยครับก็คือการออกแบบตาลปัตรหรือว่าพัดรอง ในยุคนึง เจ้านายในสมัยก่อนมักทําถวายพระภิกษุในโอกาสต่าง ๆ ในงานมงคลงานอวมงคล เช่นงานครบรอบงานพิธีพระราชทานเพลิงศพหรือว่างานวันเกิดต่าง ๐ ตาลปัตรพระรอง ฝีพระหัตถ์ของสมเด็จครูมีแนวทางในการออกแบบโดยัมักนําเอานามและคุณวุฒิมาใส่ลงในงาน ผ่านรูปแบบและลวดลายที่สวยงามทรงคุณค่า สําหรับคนที่สนใจในหนังสือเล่มนี้มีตัวอย่างตาลปัตร พัดรองที่สวยงามหลากหลายชิ้นพร้อมคําอธิบายว่าทําไมถึงได้มีลวดลายแบบนี้ลงไปในตาลปัตร
อีกหนึ่งผลงานที่มีคุณูปการต่อประเทศไทยในด้านศิลปะวัฒนธรรมไทย นั้นคือผลงานด้านศิลปนาฏดุริยางค์ เช่นการเป็นผู้ริเริ่มการแสดงชนิดหนึ่งครับที่เรียกว่าละครดึกดําบรรพ์ ร่วมกับเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ที่ทูลเชิญสมเด็จครูหลังจากที่ไปชมโอเปร่ามา โดยทรงพระนิพนธ์บทละคร ออกแบบฉาก ควบคุมด้านศิลปะ และก็ที่น่าสนใจเลยนะคือสมเด็จครูทรงออกแบบการแต่งหน้าให้กับตัวละครด้วยเรียกว่าเป็น make up artist ในสมัยนั้นเลยก็ว่าได้ หรือจะเป็นการพระนิพนธ์เพลงประกอบการแสดงที่มีชื่อว่า “ตาโบลวิวังต์ (Tableaux Vivantes)” ซึ่งเป็นการแสดงที่นําเอาคนจริง ๆ มาแต่งตัวตามท้องเรื่องและก็ยืนนิ่งไว้มีบทเพลงประกอบซึ่งพระองค์ก็ทรงพระนิพนธ์เพลงหลายเพลงด้วยกันแต่ว่าอีกเพลงที่น่าสนใจจนผมไปเปิดฟังใน Youtube ก็คือพระนิพนธ์เพลงที่มีชื่อเรียกว่า “ซินเดอเรลล่า” ยังมีพระนิพนธ์ที่ทรงคุณค่าและก็เป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมมาจนถึงปัจจุบันนี้หลายเพลงด้วยกันเช่น “เพลงเขมรไทรโยค” และเนื้อร้องของ “เพลงสรรเสริญพระบารมี” ที่เราร้องกันอยู่ในปัจจุบันก็เป็นผลงานของสมเด็จครูเช่นเดียวกันครับ นอกจากผลงานทางด้านการช่าง ดนตรี นาฏศิลป์ แล้ว พระองค์ยังมีผลงานทางด้านงานเขียนด้วย ที่เป็นเพชรเม็ดงามของ
วงการโบราณคดีและประวัติศาสตร์ คือหนังสือที่มีชื่อเรื่องว่า “สาส์นสมเด็จ” เป็นหนังสือ ที่เกิดจากการเขียนจดหมายโต้ตอบกัน กับ “สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพ”
เล่ามาจนถึงตอนนี้แล้ว ก็จะเห็นได้ว่าสมเด็จครูทรงมีคุณูปการต่อประเทศไทยหลากหลายด้านด้วยกัน สมกับที่อนุชนรุ่นหลังขนานนามท่านว่า “สมเด็จครู” อย่างแท้จริงเลย สําหรับท่านใดที่สนใจเนื้อหาที่ละเอียดกว่าที่ผมเล่าก็ สามารถอ่านกันได้ กับหนังสือที่มีชื่อเรื่องว่า “หนังสือเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์” ให้บริการที่ ชั้น 1 โซน New Book หอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร และที่ ห้องอ่านหนังสือ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ชั้น 2 อาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรวังท่าพระ
บรรณานุกรม
กรมโยธาธิการและผังเมือง. (2565). หนังสือเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. กรุงเทพฯ : ศูนย์สื่อและสิ่งพิมพ์แก้วเจ้าจอม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
เลขหมู่ : DS570.6.น46 ห36
โดย : กรมโยธาธิการและผังเมือง
สำนักพิมพ์ : ศูนย์สื่อและสิ่งพิมพ์แก้วเจ้าจอม
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
พิมพ์ปี : 2565