ปกขนาด 11.11 (2)

Capitalism magic Thailand เทวา มนตรา คาถา เกจิ ไสยศาสตร์สมัยใหม่กับทุน (ไทย) นิยม

Capitalism magic Thailand เทวา มนตรา คาถา เกจิ : ไสยศาสตร์สมัยใหม่กับทุน (ไทย) นิยม

ช่วงสงกรานต์เชื่อเลยว่าคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธก็จะต้องมีวัดอยู่ในลิสต์การท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดอย่างแน่นอน สาเหตุสําคัญก็อาจจะเกิดจากการที่เชื่อว่าเทศกาลสงกรานต์นั้นเป็นปีใหม่ของไทย เพราะฉะนั้นการจะเริ่มปีใหม่ของไทยให้ราบรื่นเนี่ยก็ต้องไปขอพรพระ ทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคล ขอพรให้ร่ำรวยบ้าง ขอพรให้หน้าที่การงานมั่นคง แต่พอเรามานึก ๆ ดูว่า เอ๊ะ! ทําไมเราถึงต้องไปขอพรกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในวัด ทําไมเราต้องขอพรเรื่องเงิน เรื่องทองกับวัด จนได้มาเจอหนังสือเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเชื่อและก็การศรัทธาของคนไทย หนังสือนี้มีชื่อเรื่องว่า “Capitalism Magic Thailand” ฉบับแปลเป็นภาษาไทยก็มีชื่อไทยแบบคล้องจองกันไพเราะว่า “เทวา มนตรา คาถา เกจิ ไสยศาสตร์สมัยใหม่กับทุน (ไทย) นิยม” ที่เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร. ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน ศาตราจารย์เกียรติคุณด้านวัฒนธรรมไทยศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย แปลเป็นภาษาไทยโดย วิราวรรณ นฤปิติ และบรรณาธิการโดย ปรีดี หงษ์สต้น เป็นหนังสือของสํานักพิมพ์มติชน เล่มนี้ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2566 เป็นหนังสือที่ค่อนข้างหนาทีเดียวมีทั้งหมด 528 หน้า ภาพประกอบแล้วก็คําอธิบายอย่างละเอียดดีเลยที่เดียว 

          สําหรับเนื้อหาที่น่าสนใจภายในเล่มผู้เล่า (ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน) ได้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับลัทธิบูชาความมั่งคั่งของไทย ตั้งแต่ในยุคที่ประเทศไทยเศรษฐกิจรุ่งเรือง ไปจนถึงยุคที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงลัทธิบูชาความเชื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการบูชาดวงพระวิญญาณของพระมหากษัตริย์ บุคคลสําคัญของไทยในอดีต การบูชาเครื่องรางของขลัง พระเครื่อง การไปหาคนทรงเจ้าเข้าผี การอุปัฏฐากพระสงฆ์และเกจิอาจารย์ต่าง ๆ  ซึ่งในอดีตความเชื่อเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นความเชื่อแบบชายขอบ งมงาย แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปความเชื่อเหล่านี้ถูกผสมผสานและเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคกับสมัย หลอมรวมกับอีกหลายความเชื่อจนเกิดเป็นการนับถือในแบบใหม่ ๆ ในปัจจุบัน ซึ่งเรื่องราวความเชื่อความศรัทธาก็เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบันเลยว่าเรามีเทรนด์การไหว้เทพเจ้าที่แปลกใหม่กันไปทุกปีเลยก็ว่าได้  

          สําหรับประเด็นน่าสนใจที่อยากจะยกมาเล่าให้กับทุกท่านได้ฟังนะครับคือประเด็นจากบทที่ 4  เรื่อง “ลัทธิบูชาความมั่งคั่งของไทย พระวิญญาณเจ้า พระเกจิอาจารย์ เทพเจ้าจีนและเทพเจ้าฮินดู” ในประเด็นนี้ก็ได้เล่าถึงเรื่องของเกจิอาจารย์ พระสงฆ์ ซึ่งผู้เขียนก็รวบรวมมาเล่าได้อย่างสนใจ จากข้อมูลที่ว่า


พระสงฆ์ไม่ว่าจะที่มีชีวิตอยู่ หรือว่ามรณภาพไปแล้ว ล้วนเป็นบุคคลที่มีความสําคัญเชื่อมโยงกับลัทธิการบูชาความมั่งคั่งของคนไทย

ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดเลยก็คือการที่พระสงฆ์รูปนั้น เป็นที่รู้จักของลูกศิษย์ลูกหาในด้านความสามารถในการปลุกเสกเลขยันต์ ประกอบพิธีได้ และก็มีลูกศิษย์ลูกหาเล่าลือกันต่อไปว่ามีของดีของขลัง ที่บูชาแล้วจะแคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตราย ค้าขายร่ำรวย คนรักคนหลง ซึ่งวัดที่พระสงฆ์เหล่านั้นจําพรรษาก็จะกลายเป็นสถานที่ที่ผู้ที่แสวงโชค นิยมมากราบไหว้บูชาเพื่อแสวงหาความมั่งคั่งร่ํารวยนั่นเอง หรือว่าพ่อค้าแม่ขายที่ประกอบธุรกิจตามร้านรวงต่าง ๆ ก็จะมีการตั้งหิ้งบูชารูปของเกจิหรือเหรียญที่ระลึกต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโชคลาภและก็ความร่ำรวยในการค้าขายนั่นเอง 

          รวมถึงมงคลนามของเกจิหรือว่าพระสงฆ์เหล่านั้น ที่มีความเชื่อมโยงกับการค้าขายหรือว่าความร่ำรวย โดยผู้เขียนยกตัวอย่างหนังสือเล่มหนึ่งของของเวทย์ วรวิทย์ ที่ตีพิมพ์ในปี 2540 ที่ใช้ชื่อหนังสือว่า “พระอภิญญาจารย์มงคลนาม ชุด เงินสด” สําหรับเนื้อหาในหนังสือ ก็จะเล่าถึงเรื่องราวของหลวงพ่อเงิน แห่งวัดบางคลาน จังหวัดพิจิตร เกจิดังยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 และหลวงพ่อสด วัดปากน้ําภาษีเจริญ เขตธนบุรี ผู้มีชื่อเสียงในยุคที่ศตวรรษที่ 20 หนังสือเรื่อง เงินสด เป็นการนําเอาชื่อของเกจิทั้งสองท่านมารวมกันโดยที่เกจิทั้งสองท่าน ไม่ได้มีการพบปะหรือว่าเชื่อมโยงกัน แต่ว่าหนังสือที่ฆราวาสได้แต่งขึ้น ได้นําเอาชื่อของพระสงฆ์ทั้งสองมารวมกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงการบูชา เงินสด ปัจจัยสําคัญที่เวทย์บอกว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนจําเป็นต้องมี

         “

อีกหนึ่งความคิดสร้างสรรค์คือการเอามงคลนามของเกจิอาจารย์ต่าง ๆ มารวมกันให้มีความหมายที่มงคลและค้าขายร่ำรวย

คือภาพโปสเตอร์ของเกจิทั้ง 9 รูป ที่จัดทําโดยบริษัทพรปาฏิหาริย์จํากัดในปี พ.ศ. 2540 เป็นภาพของพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อมงคลและสื่อความหมายไปทางร่ำรวย 9 รูปด้วยกัน ได้แก่หลวงพ่อเงิน, หลวงพ่อทอง, หลวงพ่อมั่น, หลวงพ่อคง, หลวงพ่อคูณ, หลวงพ่อเจริญ, หลวงพ่อสุข, หลวงพ่อสด, และก็หลวงพ่อชื่น, เมื่อนํามาเรียงกันแล้วเรียกชื่อก็จะ กลายเป็น “เงิน ทอง มั่น คง คูณ เจริญ สุข สด ชื่น” ก็จะเห็นได้ว่าเป็นคําที่มงคล สอดคล้องกันไปทางการค้าขายร่ำรวยมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง เจริญก้าวหน้า

          สําหรับที่เล่าไปนะครับเป็นเพียงประเด็นเล็ก ๆ ที่อยู่ภายในเล่มเท่านั้น ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจ มีอีก 7 บทที่ตั้งชื่อไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว อย่างบทที่ 2 ตั้งชื่อไว้อย่างโดนใจมากเลยก็คือ


นับถือพุทธในที่แจ้ง นับถือผีในที่ลับ เล่าถึงการยกเอาศาสนาพุทธขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นอารยะ ความศิวิไลซ์ในยุคล่าอาณานิคม แต่พอหลังบ้าน การทําพิธีส่วนตัวก็ทำพิธีตามความเชื่อทางไสยศาสตร์อยู่

หรือจะเป็นเรื่องของเครื่องรางของขลัง ที่ใช้เกจิอาจารย์ในการปลุกเสกเลขยันต์ รวมถึงตั้งชื่อเครื่องรางของขลังเหล่านั้น ให้เป็นชื่อรุ่นที่เกี่ยวกับความร่ํารวยมั่งคั่งต่าง ๆ ซึ่งโดยตลอดทั้งเล่มก็จะเป็นการนําเสนอความเชื่อการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงผสมผสานและมีความคิดสร้างสรรค์ที่เคลื่อนไหวไปตามยุคตามสมัยอย่างน่าสนใจเลยทีเดียว

          สําหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องราวเหล่านี้ สามารถใช้บริการหนังสือที่มีชื่อเรื่องว่า Capitalism Magic Thailand เทวา มนตรา คาถา เกจิ : ไสยศาสตร์สมัยใหม่กับทุน(ไทย)นิยม ได้ที่ โซน New book ชั้น 1 หอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปาก

บรรณานุกรม

ปีเตอร์ เอ. แจ็คสัน. (2566). วิราวรรณ นฤปิติ (ผู้แปล). เทวา มนตรา คาถา เกจิ : ไสยศาสตร์สมัยใหม่กับทุน (ไทย) นิยม  Capitalism magic Thailand. กรุงเทพฯ : มติชน.

เลขหมู่ : BF1558 .จ82 2566

โดย : ปีเตอร์ เอ. แจ็คสัน เขียน ; วิราวรรณ นฤปิติ แปล 

สำนักพิมพ์ :  มติชน.

พิมพ์ปี : 2566

Click to rate this post!
[Total: 1 Average: 5]

ข้อมูลนี้มีประโยชน์หรือไม่

Thanks for your feedback!

Comments are closed.