ปก1.11

วัตถุศิวิไลซ์ : 50 ศิลปะไทยสมัยใหม่กับความเปลี่ยนแปลงของสังคมทศวรรษ 2390 – 2470

วัตถุศิวิไลซ์ : 50 ศิลปะไทยสมัยใหม่กับความเปลี่ยนแปลงของสังคมทศวรรษ 2390-2470

ความเปลี่ยนแปลงในสังคมสยามเพื่อก้าวไปสู่ความ “ศิวิไลซ์” เกิดวัตถุงานศิลปะและงานออกแบบขึ้นมากมายหลายชิ้น เป็นจุดเริ่มต้น เป็นต้นแบบ เป็นเครื่องบันทึกเหตุการณ์ Reader SU แนะนำหนังสือที่รวบรวมงานศิลปะและการออกแบบชิ้นสำคัญที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงกับหนังสือที่มีชื่อเรื่องว่า “วัตถุศิวิไลซ์ : 50 ศิลปะไทยสมัยใหม่กับความเปลี่ยนแปลงของสังคมทศวรรษ 2390-2470″ หนังสือของสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิชญ มุกดามณี เป็นบรรณาธิการ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ต่อยอดมาจากการวิจัยที่ศึกษาเรื่องของงานศิลปะและการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยช่วง พ.ศ. 2390-2470 สำหรับตัวเล่มถูกออกแบบมาอย่างสวยงามและน่าสนใจ โดยการนำเอาวัตถุในเล่มทั้ง 50 ชิ้นมาแปลงเป็นไอคอน แล้วก็ประดับตกแต่งที่ปก เนื้อหา และ สารบัญ ตลอดทั้งเล่ม มีภาพประกอบสีสันสวยงาม

       มาดูที่ส่วนเนื้อหากันบ้าง สำหรับเนื้อหาที่น่าสนใจคือการรวบรวมวัตถุศิลปะงานสร้างสรรค์ต่าง ๆ ที่ส่งผลและก็มีความสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ของไทยในยุคที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งผู้เขียนนิยามว่าเป็นยุคที่สยามกําลังสร้างความ”ศิวิไลซ์”นั่นเอง ยุคที่สยามกําลังปรับตัวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ จึงมีการเลือกรับ ปรับใช้ และผสมผสานวัฒนธรรม จากโลกทัศน์ทางตะวันตกและโลกทัศน์แบบจารีตเดิมเข้าด้วยกันวันนี้ก็เลยหยิบเอาวัตถุที่น่าสนใจจากในหนังสือเล่มนี้สัก 2-3 ชิ้นมาชวนทุกท่านร่วมอ่านไปด้วยกัน ไปดูที่ชิ้นแรกกันเลย

 

ภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยใหม่ของขรัวอินโข่ง”

        ขรัวอินโข่งเป็นพระภิกษุและเป็นศิลปินเขียนภาพจิตรกรรมที่มีฝีมือโดดเด่น เป็นศิลปินเอกในสมัยนั้นเลยก็ว่าได้คือในสมัย
รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเมื่อนำผลงานของท่านไปเปรียบเทียบกับผลงานของศิลปินในยุคเดียวกัน
ก็จะเห็นความพิเศษด้วยเทคนิคการเขียนภาพแบบชาวตะวันตกที่มีการเขียนภาพแบบ 3 มิติ แสดงความ ตื้น ลึก ใกล้ ไกล ของวัตถุ ตามหลักทัศนียวิทยา หรือว่า Perspective ทําให้ภาพของท่านมีความแปลกใหม่ จากการผสมผสานศิลปะแบบจารีต เข้ากับศิลปะแบบตะวันตกได้อย่างลงตัวแล้วงดงาม เรียกได้ว่าท่านเป็นศิลปินคนไทยคนแรก ๆ ที่เขียนภาพแบบชาวตะวันตก

          และในสมัยนั้นเองวิทยาการจากชาวตะวันตกเริ่มแพร่เข้าสู่ชนชั้นนําของสยาม ไม่ว่าจะเป็นหลักวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ เพราะฉะนั้นจักรวาลวิทยาแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ก็เริ่มเข้ามาแทนที่จักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิที่คนไทยเชื่อถือกันอยู่ ในทางพระพุทธศาสนาเองในยุคนั้นก็มีการตั้ง “ธรรมยุติกนิกาย” ขึ้น นิกายที่มีพื้นฐานสอดรับและก็ปรับตัวเข้ากับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ดังนั้นภาพจิตรกรรมที่วาด แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ในพุทธประวัติ เทวดานางฟ้าที่มีอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ ที่ไม่สามารถอธิบายด้วยหลักวิทยาศาสตร์จึงไม่ต้องพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในฐานะขององค์อุปถัมภ์ศาสนา
ที่ต้องการนําเสนอภาพลักษณ์ของศาสนา ด้วยหลักธรรมบริสุทธิ์และก็เป็นอันนึงอันเดียวกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่
การเขียนภาพแบบเดิมจึงถูกแทนที่ด้วยภาพปริศนาธรรม

          ขรัวอินโข่งเองซึ่งเป็นศิลปินเอกยุคสมัยนั้นจึงต้องทำงานตามโจทย์ดังกล่าว ภาพที่สะท้อนความแปลกใหม่ที่ดีที่สุดคือภาพปริศนาธรรมรูปดอกบัวกลางสระ ภายในพระอุโบสถวัดบรมนิวาส หลายคนอาจจะเคยเห็นภาพนี้กันมาบ้างแล้ว เป็นภาพดอกบัวขนาดใหญ่มหึมาที่บานอยู่กลางสระ มีฝูงผึ้งตอมดอกบัว บริเวณขอบสระเนี่ยรายล้อมไปด้วยชาวต่างชาติซึ่งสามารถถอดปริศนาธรรมได้ว่า ดอกบัว หมายถึง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผึ้ง หมายถึง พระสงฆ์ที่มาดื่มด่ำในรสพระธรรม ชาวต่างชาติที่อยู่บริเวณขอบสระก็อาจจะถอดความได้ว่าความยิ่งใหญ่ของศาสนาพุทธได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางด้านกิจกรรมในพระพุทธศาสนาดังกล่าว ทําให้เห็นถึงปัจจัยที่ปลดเปลื้องข้อจํากัดเดิมทําให้ศิลปินสามารถนําเสนองานรูปแบบใหม่ ๆโดยไม่ยึดติดประเพณีเดิม ทําให้สร้างสรรค์ผลงานที่มีเรื่องราวแบบความเป็นไทยภายใต้กลิ่นอายแบบชาวตะวันตกได้อย่างสวยงามและลงตัว

 

“เหรียญกษาปณ์และธนบัตรสมัยใหม่”

        มาดูวัตถุศิลปะอีกชิ้นนึงที่หนังสือยกขึ้นมาสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงด้านระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ของไทยยุคนั้น ก็คือเรื่องของ “เหรียญกษาปณ์และธนบัตรสมัยใหม่” ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่เริ่มแพร่เข้าสู่สยาม เพราะฉะนั้นการแลกเปลี่ยนซื้อขายแบบเก่าจึงไม่สอดรับกับยุคสมัยของสยามในสมัยนั้น สยามจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงระบบเงินตราจากพดด้วง มาใช้ระบบเหรียญกษาปณ์และธนบัตรแทน ซึ่งเหรียญกษาปณ์ใช้ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 และเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น ก็เริ่มเป็นการพิมพ์เงินกระดาษขึ้น หรือว่าธนบัตรมีชื่อเรียกว่า “หมาย” ซึ่งเริ่มใช้ในสมัยรัชกาลที่ 4        

          จนมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางระบบเศรษฐกิจการเงิน ของประเทศไทยคือพระองค์มีพระราชดําริว่ามาตราเงินไทยที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ก็คือหน่วยวัด “ ชั่ง ตําลึง บาท สลึง เฟื่อง” ซึ่งเป็นระบบที่ยากต่อการคํานวณ และอยากต่อการทําบัญชีจึงเปลี่ยนให้ใช้ระบบ สตางค์ คือ 100 สตางค์ เท่ากับ 1 บาทแทนระบบเก่าในปี พ.ศ. 2441 ก็กลายเป็นมาตราเงินที่เราใช้กันในปัจจุบันนี้เอง และใน พ.ศ. 2445 เนี่ยก็เกิดธนบัตรสมัยใหม่ขึ้น โดยมีลักษณะเป็นธนบัตรพิมพ์ด้านเดียวมี 5 ราคา ก็คือ 5 บาท 10 บาท 20 บาท 100 บาทแล้วก็ 1,000 บาท พิมพ์ที่บริษัท โทมัส เดอ ลารูู แอนด์ คัมปานี ลิมิเตด (THOMAS DE LA RUE & COMPANY LIMITED)

          ซึ่งการออกแบบธนบัตรครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่จะใช้ธนบัตร เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนซื้อขายในระดับนานาชาติโดยการนําทั้งแบบไทยแล้วแบบอารบิกไว้ที่มุมทั้ง 4 มุมของธนบัตรตรงกลาง มีตัวหนังสือระบุราคาภาษาไทย ภาษาอังกฤษคู่กัน ด้านขวามีภาษามาลายูด้านซ้ายมีภาษาจีนและก็ตรงกลางมีตาแผ่นดิน ระบุว่า “รัฐบาลสยามสัญญาจะจ่ายเงินให้ผู้นําธนบัตรนี้มาขึ้นเป็นเงินตราสยาม” พร้อมลายเซ็นเจ้าพนักงานและเสนาบดีกระทรวงการคลัง หนังสืออธิบายให้เห็นว่าระบบเงินตราสมัยใหม่เป็นนวัตกรรมความศิวิไลซ์จากตะวันตก ที่สยามเลือกนํามาใช้เพื่อพัฒนาประเทศเข้าไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ ในเรื่องของระบบเศรษฐกิจการแลกเปลี่ยนทั้งภายในสยามเองและก็ระหว่างประเทศ

 

“ประติมากรรมเหมือนจริงโดย คอร์ราโด เฟโรชี (ศาสตราจารย ศิลป์ พีระศรี)”

 

 

       สำหรับคอร์ราโด เฟโรชี หรือว่าที่เราคุ้นเคยกันในชื่อของ “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” ท่านได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลไทยในสมัยรัชกาลที่ 6 ให้มารับราชการในตําแหน่งช่างปั้น ประจํากรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2466 เพื่อทํางานประติมากรรมแล้วก็สอนให้
คนไทยสามารถปั้นรูปตามแบบประติมากรรมสมัยใหม่หรือว่าประติมากรรมเหมือนจริงได้นั่นเอง และผลงานประติมากรรมสร้างชื่อของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี อีกทั้งยังเป็นผลงานชิ้นสําคัญทางประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ นั่นก็คือประติมากรรมเฉพาะ
พระพักตร์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผลงานแสดงความผลงานชิ้นนี้ แสดงให้เห็นถึงความแม่นยําและ
ความเจนจัดในฝีมือการปั้น ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผลงานแสดงให้เห็นถึงความเที่ยงตรงในการถ่ายทอดกายวิภาค
รวมถึงความรู้สึกของบุคคลที่เป็นต้นแบบ ปัจจุบันประติมากรรมชิ้นนี้ถูกถอดแบบและหล่อให้เป็นโลหะสำริดเก็บไว้
ที่พระตําหนักปลายเนินโดยทายาทของสมเด็จครูและก็ถูกถอดแบบเก็บรักษาไว้อีกหลายแห่งรวมถึง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
หอศิลป์ (ถนนเจ้าฟ้า)

          ผลงานชิ้นนี้เองที่ทําให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีของเราได้ปั้นพระบรมรูปของรัชกาลที่ 6 โดยพระองค์เสด็จมาประทับเป็นต้นแบบให้อาจารย์ศิลป์ปั้นด้วยพระองค์เองเลย ซึ่งอาจารย์ศิลป์ก็ปั่นออกมาเป็นพระบรมรูปเฉพาะพระพักตร์เช่นเดียวกับประติมากรรมของสมเด็จครูหลังจากที่รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตประติมากรรมชิ้นนี้ ก็ถูกนํามาปั่นต่อเติมจนเต็มพระองค์บรรจุพระบรมอัฐิดวงพระชะตาแล้วนําประดิษฐาน ณ ประสาทเทพบิดร ในพระบรมมหาราชวัง

          นอกจากประติมากรรมทั้ง 2 ชิ้นนี้แล้ว หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีก็ได้รับหน้าที่สําคัญและก็มีบทบาทสําคัญ ในการสร้างประติมากรรมอีกหลายชิ้นให้กับรัฐบาล และที่สําคัญที่สุดอาจารย์ศิลป์ มีบทบาทในการวางรากฐานการสอนศิลปะสมัยใหม่ให้กับสังคมไทยเป็นผู้วางรากฐานหลักสูตรและระบบการศึกษาด้านศิลปะให้แก่โรงเรียนประณีตศิลปกรรมของกรมศิลปากร ที่ต่อมาได้พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรของเรานี่เอง

          สําหรับทั้งหมดที่เล่ามานี้ ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งจาก 50 ชิ้น ที่อยู่ในหนังสือ จริง ๆ ยังมีการเขียนถึงวัตถุศิวิไลซ์ต่าง ๆ ในแง่ของสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม รวมถึงงานอาร์ต งานออกแบบต่าง ๆ ที่สะท้อนได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสยามในยุคสร้างความศิวิไลซ์ สําหรับท่านที่สนใจก็สามารถอ่านได้กับหนังสือเรื่อง
วัตถุศิวิไลซ์ 50 ศิลปะสมัยใหม่กับความเปลี่ยนแปลงของสังคมทศวรรษ 2390-2470”
สามารถอ่านได้ที่ “โซน New Book” ชั้น 1 หอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

 

บรรณานุกรม

ชาตรี ประกิตนนทการ และวิชญ มุกดามณี, บรรณาธิการ. (2566). วัตถุศิวิไลซ์ : 50 ศิลปะไทยสมัยใหม่กับความเปลี่ยนแปลงของสังคมทศวรรษ 2390-2470. กรุงเทพฯ : สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ.

เลขหมู่ :N7321 .ว633 2566

โดย : ชาตรี ประกิตนนทการ และวิชญ มุกดามณี, บรรณาธิการ

สำนักพิมพ์ : สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ.

พิมพ์ปี : 2566

Click to rate this post!
[Total: 0 Average: 0]

ข้อมูลนี้มีประโยชน์หรือไม่

Thanks for your feedback!

Comments are closed.