สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดงานมหกรรมหนังสือสื่อการเรียนรู้ภายใต้ชื่อ “ทับแก้วบุ๊คแฟร์” ครั้งที่16 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสร้างให้เกิดสังคมการอ่าน ให้กับประชาคมศิลปากรและประชาชนใกล้เคียง มีการจัดพื้นที่การเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ (Creative Space) เวทีแลกเปลี่ยนความคิด การเชื่อมต่อองค์ความรู้ภายในประชาคมศิลปากรสู่ชุมชนภายนอก นำไปสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ไร้ขอบเขต (Borderless Knowledge)
ในงาน “ทับแก้วบุ๊คแฟร์” ครั้งที่ 16 นี้ เริ่มพิธีเปิดด้วยการ มอบเกียรติบัตรแก่นักอ่านที่มีสถิติการยืมสูงสุดในแต่ละระดับชั้น ในปี 2566 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ธนะเศรษฐ์ ง้าวหิรัญพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ให้เกียรติมาเป็นผู้มอบเกียรติบัตรและเป็นประธานในพิธีเปิดพร้อมกล่าวว่า “รู้สึกยินดีและขอชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง ที่ฝ่ายหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลาง ได้จัดงานทับแก้วบุ๊คแฟร์ขึ้น แสดงให้เห็นถึง ความมุ่งมั่นและความใส่ใจกับเป้าหมาย ในการสร้างชุมชนแห่งการอ่าน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการบ่มเพาะต้นกล้าเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญา รวมถึงเป็นการเปิดพื้นที่การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงศักยภาพของตนเองสู่สาธารณชนอันเป็นการสร้างภูมิเสริมความแกร่งในด้านทักษะทางสังคม”
อาจารย์พิมลพรรณ์ วงศ์อร่าม รองผู้อำนวยการสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวรายงานว่า “ในการจัดงานทับแก้วบุ๊คแฟร์ มีความตั้งใจเพื่อส่งเสริมและสร้างให้เกิดสังคมการอ่านกับประชาคมศิลปากรและประชาชนใกล้เคียง อีกทั้งภายในงานยังได้บูรณาการความรู้ในทุกศาสตร์ ด้วยการผนวกการสร้างสรรค์กิจกรรม การจัดพื้นที่การเรียนรู้ เวทีแลกเปลี่ยนความคิด การเชื่อมต่อองค์ความรู้ภายในประชาคมศิลปากรสู่ชุมชนภายนอก นำไปสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ไร้ขอบเขต”
การจัดงานมหกรรมหนังสือสื่อการเรียนรู้ในครั้งนี้ ภายในงานมีร้านจำหน่ายหนังสือ สื่อการเรียนการสอน ร้านอาหารและเครื่องดื่ม งานศิลปะ และภาพวาด (Food & Craft) รวมทั้งสิ้น 88 ร้านค้า ตลอดระยะเวลา 9 วัน ของการจัดงาน สำนักหอสมุดกลางได้เรียนเชิญนักเขียนชื่อดังผลัดเปลี่ยนกันมาเสวนามากถึง 11 คน ได้แก่
วันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 (เวลา 16.00-17.00 น.)
คุยกับนักเขียน : ซ่อนกลิ่น (มนต์ชัย ศิริลัทพร) ในหัวข้อ “จากตัวอักษรสู่ละครจอแก้ว โดยละครชุด ดวงใจเทวพรหม”
วันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 (เวลา 16.00-17.00 น.)
คุยกับนักเขียน : รองศาสตราจารย์ ดร.วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ ในหัวข้อ “มองประวัติศาสตร์ จากอยุธยาสู่รัตนโกสินทร์ผ่านชุดคำถาม คำตอบ”
วันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 (เวลา 17.00-18.00 น.)
คุยกับนักเขียน : ปริวัฒน์ จันทร ในหัวข้อ “Silk Road เส้นทางสายแพรไหมในจีน : จากซีอานสู่คาราโครัม”
วันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 (เวลา 16.00-17.00 น.)
คุยกับนักเขียน : ชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล ในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์แมว-เรื่องเล่าจากเรื่องที่รัก”
วันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 (เวลา 16.00-17.00 น.)
คุยกับนักเขียน : เจ้าสำราญ (สุวพงศ์ ดิสถาพร), ราษราตริน (เลอลักษณ์ อินทวงศ์) และแกดิออรัส (ศิริพร นิยมทรัพย์ศิริ) ในหัวข้อ “ความสนุกในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์”
วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 (เวลา 17.00-18.00 น.)
คุยกับนักเขียน : Morihara (อาจารย์ขอบคุณ สมบูรณ์วงศ์) ในหัวข้อ “นวนิยายวายไทยในฐานะ Soft Power”
วันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 (เวลา 17.00-18.00 น.)
คุยกับนักเขียน : อาจารย์ ดร.วนิดา คราวเหมาะ ในหัวข้อ “แปลเกาหลีอย่างไรให้ว้าว”
วันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 (เวลา 16.00-17.00 น.)
คุยกับนักเขียน : ฟาโรห์ จักรภัทรานน ในหัวข้อ “ฟาโรห์ จักรภัทรานน ผู้ถอดบทเรียนคดีอาชญากรรม”
วันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 (เวลา 17.00-18.00 น.)
คุยกับนักพากย์ : ตึ๊ง (ธนศักดิ์ อุ่นอ่อน) “อยากเป็นนักพากย์ ยากไหม”
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมของคณาจารย์และนักศึกษาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงดนตรีสด และกิจกรรมการแสดงบนเวทีจากชมรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยฯ เช่น ชมรมดนตรีสากล ชมรมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ชมรมพิธีกรและนักจัดรายการวิทยุ กิจกรรม D.I.Y. ของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร อีกทั้งยังมี “ลานปล่อยของ” สำหรับนักเรียนและนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ที่นำผลงาน หรือสินค้าทางด้านศิลปะ มาร่วมในงาน และกิจกรรมคลินิกหนังสือ: สาธิต ซ่อม ดูแล รักษาสุขภาพหนังสือใหม่และเก่า ถ่ายทอดความรู้ด้านการซ่อมหนังสือโดยบุคลากรจากหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์
งานนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 20.30 น. ณ หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
#tubkaewbookfair16
#ทับแก้วBookfair16