“…การที่ได้เดินทางไปเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมในต่างประเทศนั้น มีสิ่งที่คล้าย ๆ กับขัดกันมากอยู่ข้อหนึ่ง คือศิลปะกับการเมือง ศิลปะกับการเมืองไม่เข้ากันเลย และไม่เป็นประโยชน์ต่อกัน พอที่จะเรียกว่าเป็นสิ่งที่คู่กัน แต่ว่าศิลปะกับวัฒนธรรมไทยนี้คู่กันไปเสมอ เพราะเหตุว่าประเทศไทยก็เป็นประเทศที่มี ศิลปะ มีวัฒนธรรม และถ้าเรารักศิลปะวัฒนธรรมและความดีของเราไว้ ก็ทำให้บ้านเมืองอยู่ดีได้ มีเกียรติได้ ศิลปวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่คู่กับการบ้านการเมือง ถ้าดูในแง่ ในแบบของต่างประเทศ ศิลปะกับวัฒนธรรมนี้ไม่คู่กันในความคิดของชาวต่างประเทศหรือคนที่เรียกว่าเป็นคนสมัยใหม่ แต่ว่าถ้าสังเกตดูในประเทศต่าง ๆ เขาก็ใช้ศิลปะเป็นการเมือง เพื่อที่จะให้คนรู้จักบ้านเมืองเขา และแข่งขันก...ันให้แสดงว่า บ้านเมืองเขามีของดีกว่าบ้านเมืองเรา เช่นในด้านการดนตรี ก็ประกวดประขันกันว่าประเทศไหนมีศิลปินที่เก่งที่สุด ให้เป็นการข่มขวัญกัน แม้ในทางกีฬาเขาก็ข่มขวัญกันด้วยสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะนำมาใช้ในทางแสดงความ ใหญ่โต แต่เมื่อเป็นไปเช่นนี้ คือเป็นไปในทางที่ไม่ควรเป็น เราจะต้องนึกว่า หน้าที่ของศิลปินต้องมีอย่างหนัก โดยเฉพาะศิลปะไทยอย่างที่จะไปแสดงนี้เป็นศิลปะที่สำคัญมาก เพราะว่าเป็นการแสดงจิตใจ เป็นการแสดงความเป็นไปของ ประเทศของประชาชนคนไทย หมายความว่า ถ้าต่างประเทศเขาเห็นว่าเรามีศิลปะที่งดงาม ที่ลึกซึ้ง เขาก็เกรงใจเรา และนับถือเรา ทุกคนจึงมีหน้าที่สำคัญที่จะไปแสดงตนว่าเป็นผู้มีวัฒนธรรม หมายถึงว่ามีอยู่ในเลือดว่าเป็นศิลปินที่อ่อนโยน ที่ละเอียดอ่อน และที่ได้ขัดเกลามาเป็นเวลาหลายศตวรรษ อันนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการที่จะทำให้ประชาชนชาวต่างประเทศนับถือศิลปะไทยและนับถือคนไทย การที่เขานับถือคนไทย เขาก็จะมีความรู้สึกหลายอย่าง มีความรู้สึกว่าคนไทยเป็นมิตร คนไทยเป็นคนที่น่ารัก เป็นคนที่น่าจะคบไว้เป็นเพื่อน เขาจะนับถือเราว่าเราน่าเกรงขามเพราะว่ามี วัฒนธรรมมาช้านาน เป็นชาติที่ยืนตัวมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ และทำให้เขาเกรงขามว่าเราเป็นชาติเจริญแท้ ๆ ไม่ใช่ ชาติที่ป่าเถื่อน และก็โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่เราไปนี้ เขาเป็นประเทศที่ได้ร่วมมือกับประเทศไทยในด้านการพัฒนา ในด้านการป้องกันประเทศก็ช่วยเรา และกำลังอยู่ในเวลาที่อยากจะรู้จักคนไทยและจิตใจคนไทยมาก การที่ส่งคณะวัฒนธรรมไทยไปแสดงให้ประชาชนชาวออสเตรเลียเห็นก็เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุด และทางกรมศิลปากรส่งไปอย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี ข้อสำคัญอยู่ที่ผู้ที่เป็นศิลปินผู้ที่ไปแสดง รวมทั้งผู้ที่ควบคุม จะต้องแสดงตนว่าเป็นคนไทยที่แท้ เป็นคนไทยที่มีวัฒนธรรม คือว่าเมื่ออยู่ในคณะวัฒนธรรม แต่ละคนก็ต้องมีวัฒนธรรม คำว่า “วัฒนธรรม” นี้ จะแปลว่าอะไรก็แล้วแต่จะตีความ ความจริงแปลว่าความเจริญ ความก้าวหน้า แต่วัฒนธรรมในที่นี้ก็คงจะบ่งถึงว่ามีความเจริญมาช้านาน ไม่ใช่ว่ามีความเจริญก้าวหน้า แต่มีความเจริญมาเป็นเวลาช้านานต่อเนื่องมา และจนกระทั่งฝังอยู่ในสายเลือด แต่ว่าถ้าเราไปแสดงตนว่ามีวัฒนธรรม ว่ามีฝีมือเท่านั้นเองก็ไม่พอ ต้องแสดงว่าวัฒนธรรมของเราอยู่ในเลือด วัฒนธรรมไทยมีความอ่อนโยน ก็ต้องเป็นคนอ่อนโยนทั้งในเวลาที่มาแสดงทั้งนอกเวลาแสดง วัฒนธรรมหมายถึงว่าเป็นคนที่มีความคิดสูงด้วย อย่างเราบอกว่าคนนี้มีวัฒนธรรม หรือคนนี้ ไม่มีวัฒนธรรม หมายความว่า คนนี้หยาบคาย หรือคนนี้อ่อนโยน มีความสุภาพเรียบร้อย ก็ต้องแสดงความสุภาพ อ่อนโยนทั้งในเวลาการแสดงและนอกเวลาการแสดงเพราะศิลปะของเราแสดงออกมาถึงความอ่อนโยนและความดีของคนไทย ให้เห็นว่าความสุภาพอ่อนโยนนั้นอยู่ในเลือดของคนไทย อันนี้จะทำให้การไปแสดงศิลปะไทย และการที่ได้มุ่งหมายที่จะให้เป็นการติดต่อสัมพันธไมตรีอย่างดีกับต่างประเทศเป็นผลสำเร็จอย่างดีที่สุด ฉะนั้นขอให้ทุกคนจงระลึกถึงว่า ศิลปวัฒนธรรมไทยขัดเกลามาเป็นเวลาช้านานสมควรที่จะปฏิบัติตามสิ่งที่ดีที่งามนี้ ที่เราเห็นว่าเป็นผู้ที่มีวัฒนธรรมที่ดีงาม และทั้งในเวลาที่เรียกว่าราชการ หมายถึงเวลาไปแสดง และนอกเวลาราชการ แม้จะไปเที่ยว เพราะว่าก็คง ต้องมีเวลาว่างไปตามที่เขาจัดให้เราไปเที่ยว ไปดูอะไร ๆ ในเวลานั้นก็ต้องแสดงตนว่ามีวัฒนธรรมอันดีงาม อันนี้เป็นสิ่ง สำคัญในการไป ถ้าทำได้ครบถ้วนแล้ว ก็นับว่าทุกคนจะได้ทำหน้าที่ของตนโดยเต็มที่และเคร่งครัด จะเป็นประโยชน์ อย่างใหญ่หลวงแก่บ้านเมือง ทำให้ชาวต่างประเทศที่เราไปมีความนับถือ เกรงขาม รักคนไทย เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองในทางการเมืองหรือในทางความเป็นอยู่ของบ้านเมือง ทำให้เมืองไทยอยู่ยงได้ และทำให้ศิลปะวัฒนธรรมไทย ก็ยังอยู่ยงต่อไป พร้อมทั้งจะวัฒนาต่อไปได้อีกมาก ตามความรู้สึกของเรา...”อ่านต่อ
Identifier (URI) |
https://lib.su.ac.th/royal-voices/resource/fad4c5c6-34b8-4b5e-8785-8ef7b8b6a1dc |
Title |
พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะนาฏศิลป์จากกรมศิลปากร ซึ่งจะเดินทางไปเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรมไทย ณ ประเทศออสเตรเลีย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน |
Subject |
|
Description |
|
Contributor |
หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์, ชุดหนังสือประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2493 - 2548 |
Publisher |
|
Creator |
|
Date |
1970-02-27 |
Source |
|
Language |
th-TH |
Coverage |
|
Rights |
|
Relation |
|
Type |
Sound |
Format |
audio/mpeg |
Export |